เตือนภัย » ระวัง 5 เขื่อน รับมือ พายุเบบินคา เข้าไทย ..หลังอุตุฯ เผย -19 ส.ค.นี้ จะเกิดฝนตกหนัก

ระวัง 5 เขื่อน รับมือ พายุเบบินคา เข้าไทย ..หลังอุตุฯ เผย -19 ส.ค.นี้ จะเกิดฝนตกหนัก

15 สิงหาคม 2018
1741   0

http://bit.ly/2w5Asrt

http://bit.ly/2MxrsFT

 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา
“พายุ เบบินคา”

ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561
เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (15 ส.ค. 61) พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ
คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ส่งผลกระทบทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 16-18 สิงหาคม 2561 ขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มไว้ด้วยสำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.tmd.go.th หรือ สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 11.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.00 น.

 

(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย

(นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย)

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

 

เนื่องจากอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางด้านตะวันตก ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หลายแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุและเต็มอ่าง โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคีรีธาร และเขื่อนแก่งกระจาน จึงอาจส่งผลกระทบให้น้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้นของเขื่อนและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

…ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่ม โดยให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร รวมถึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้รับทราบต่อไป.