เลี้ยงสัตว์ » คู่มือทำคลอดแพะ..สำหรับชาวแพะมือใหม่

คู่มือทำคลอดแพะ..สำหรับชาวแพะมือใหม่

23 มิถุนายน 2018
3314   0

http://bit.ly/2lrci5y

 

การตายของลูกแพะแรกแรกคลอด มักเป็นปัญหาน่าหนักใจที่จะทำให้ผู้เลี้ยงแพะเกิดความเสียหาย..

การแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีความเข้าใจของความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างสอดประสานกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่การตั้งท้อง ไปจนกระทั่งหย่านม

พฤติกรรมแม่แพะ

เป็นกริยาอาการที่แม่แสดงออกในการเตรียมรับลูกที่จะเกิด, ดูแลคุ้มครองลูกเกิดใหม่จนถึงหย่านม

-มีแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมแม่ ถูกควบคุมโดยเหตุการณ์ทางสรีระที่เกิดขึ้นในการคลอด มีการหลั่งฮอร์โมน oestradiol จากรก มีการกระตุ้นคอมดลูก-ปากช่องคลอดในการคลอด ระดับฮอร์โมนจะสูงสุดในช่วง 24 ชม. ก่อนคลอด ต่อเมื่อมีการขับตัวลูกออกมา จะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมน oxytocin ของสมอง ทำให้เกิดแรงผลักดันนี้ 3-4 ชม.ก่อนคลอด และสูงสุดเมื่อคลอด

-มีการรักษาระดับแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมแม่ เมื่อแรงผลักดันดังกล่าวหนุนเสริมให้เกิดการสัมผัสแรกระหว่างแม่ลูก เกิดการเลียน้ำคร่ำ และทำให้เกิดการยอมรับลูก การที่แม่จะมีโอกาสแสดงการปฏิสัมพันธ์กับลูกเกิดใหม่มีความสำคัญมาก หากแม่ลูกไม่ได้สัมผัสกันเมื่อแรกคลอดจะทำให้แรงผลักดันนี้จะหายไปอย่างรวดเร็ว ภายใน 24 ชม.แรกหลังคลอด แม่แพะส่วนใหญ่จะไม่เลี้ยงลูก แต่หากทดลองแยกแม่ลูกออกจากกันหลัง 24 ชม.แรก ส่วนใหญ่แล้วแม่แพะจะยอมรับเลี้ยงลูกต่อไปได้ ดังนี้ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงที่อ่อนไหว (sensitive period) ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมแม่ลูกมีความแน่นแฟ้น การสัมผัสใกล้ชิดจึงมีความสำคัญมากที่จะรักษาพฤติกรรมแม่ไปจนกว่าจะหย่านม

การปรับตัวทางสรีระของแม่และลูก

ในการคลอด ลูกเกิดใหม่ต้องสูญเสียความร้อนจากการเปลี่ยนสภาพจากที่อยู่ในมดลูกแม่ มาสู่โลกภายนอก ภายใน 15 นาทีแรก อุณหภูมิร่างกายลูกจะลดลง 1-2 C ลูกเกิดใหม่จึงต้องเพิ่มการสร้างความร้อนถึง 15 เท่า ยิ่งอุณหภูมิเย็นลงจะยิ่งมีผลกระทบมาก ด้วยสาเหตุประกอบ เช่น ลมพัด, ความชื้น, การระเหยของน้ำคร่ำบนผิวหนังลูก ลูกแพะจะเผาผลาญไขมันและเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มการสร้างความร้อน แม่แพะที่ขาดอาหารจะให้ลูกที่มีไขมันสะสมน้อยทำให้โอกาสรอดน้อยลง ปริมาณพลังงานสำรองจึงเป็นวิกฤตแรกสำหรับการมีชีวิตรอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ลูกแพะเล็กเสี่ยงต่อการเกิดอุณหภูมิลดต่ำได้ง่ายกว่าลูกแพะใหญ่เนื่องจากมีอัตราพื้นผิวต่อปริมาตรสูงกว่า และมีอัตราการสูญเสียความร้อนต่อหน่วยน้ำหนักที่สูงกว่า

นมน้ำเหลือง

นมน้ำเหลืองเป็นน้ำนมแรกของแม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นไม่นานก่อนคลอด มีสารอาหารที่เข้มข้นพร้อมด้วยโปรตีนภูมิคุ้มกันโรค, เอนไซม์, ฮอร์โมน, สารเพื่อการเจริญเติบโต เป็นแหล่งอาหารเพียงหนึ่งเดียวของลูกเกิดใหม่นอกเหนือจากพลังงานสำรองในตัว นมน้ำเหลืองมีสารอาหารโดยประมาณดังนี้ ไขมัน 7%, casein 4%, lactose 5%, น้ำ 82% และให้พลังงาน 2Kcal ต่อน้ำนม 1 ซีซี. ประมาณความต้องการของลูกแพะใน 18 ชม.แรก อยู่ที่ 180-290 ซีซี. ต่อน้ำหนักตัวลูก 1 กก. เนื่องจาก โปรตีนภูมิคุ้มกันโรคไม่สามารถผ่านทางรกแม่ลูกได้ ลูกจึงต้องรับจากการกินนมน้ำเหลืองเท่านั้น เมื่อได้กินนมน้ำเหลืองระดับภูมิคุ้มกันโรคในตัวลูกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน ชม.แรก และสูงสุดที่ 24 ชม.หลังคลอด แต่การดูดซึมโปรตีนภูมิคุ้มกันโรคจะหยุดลงภายใน 24 ชม. แรกหลังคลอด เรียกว่าลำไส้จะปิดการดูดซึม ดังนั้นการชักช้าในการดูดนมของลูกเนื่องจากไม่มีน้ำนม หรือลูกที่ไม่เก่งการค้นพบหัวนมแม่ จึงมีผลเสียมาก

น้ำหนักตัว, จำนวนลูกครอก และ การดูดนม

ลูกแพะที่น้ำหนักตัวมากไปหรือน้อยไปจะเสี่ยงต่อการตายได้ โดยน้ำหนักตัวที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 3 – 5.5 กก. ในครอกแฝดจะมีอัตราตายที่สูงกว่าลูกเดี่ยว การคลอดยากเป็นสาเหตุหลักของการตายสำหรับลูกที่มีขนาดใหญ่ แต่สำหรับลูกที่มีขนาดเล็กการตายมักมีสาเหตุจากการขาดอาหารและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (ระดับพลังงานสำรองต่ำ, ความอ่อนแอ, ไม่สมบูรณ์) ลูกที่อ่อนแอจะไม่เก่งในการค้นพบหัวนมแม่ ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นในการคงการดูดนมไว้ได้ ส่วนลูกที่หัดยืน-ดูดน้ำนมได้ช้าจะมีโอกาสรอดน้อยกว่า จึงควรต้องกินนมน้ำเหลืองภายใน 6 ชม.แรกหลังคลอด ดังนั้นสำหรับลูกที่น้ำหนักน้อยจึงมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ คือน้ำหนักน้อย-พลังงานสำรองน้อย-ลูกแพะอ่อนแอ

ปรากฏการณ์ลูกเกิดใหม่..

1.การแยกตัวและเลือกพื้นที่คลอด
แพะจะแยกตัวออกจากฝูงเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด ในการเลี้ยงแบบกักขัง, แพะใกล้คลอดจะเลือกแยกตัวออกมาถ้ามีโอกาสเลือกซองคลอดในโรงเรือน ในการเลี้ยงแบบปล่อย, ยังไม่ชัดเจนนักว่าแพะจะเลือกที่คลอดหรือตามฝูงไม่ได้กันแน่ ในฝูงที่มีตัวเมียตั้งท้องจะพบว่ามีการรบกวนความสัมพันธ์แม่ลูกอีกด้วย


2.การเลียขน
แม่แพะจะเลียขนให้ลูกภายใน ชม.แรก ๆ เนื่องจากการสนใจต่อน้ำคร่ำ และจะทำให้นำไปสู่การจำกลิ่นตัวลูกได้ ในครอกแฝดแม่แพะจะหันมาสนใจลูกแฝดตัวหลัง แต่ลูกตัวที่สองจะไม่ได้รับการเลียตัวนานเท่ากับลูกตัวแรก ลูกแฝดจะทำให้แม่แพะต้องเลียนานขึ้นจึงทำให้เสี่ยงที่ลูกจะมีอุณหภูมิร่างกายลดต่ำได้ ในขณะเลียแม่จะส่งเสียงต่ำพิเศษออกมาเมื่อเลียลูกทำให้เกิดการจดจำกันได้ของแม่ลูก

3.การจดจำกันได้ของแม่ลูก
แม่แพะจะอยู่ในพื้นที่คลอดลูกหลาย ชม.หลังคลอด ทำให้เกิดความสัมพันธ์แม่ลูก กลไกการจดจำผ่านระบบประสาทรับกลิ่น ระยะเวลา 30-60 นาที ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดหลังคลอดจะเพียงพอให้จดจำกันได้ และจะปฏิเสธตัวอื่นที่ไม่ใช่ลูกของตน ชม.แรกหลังคลอดจึงเป็นระยะวิกฤตในการจดจำกันได้ของแม่ลูก การรบกวนในระยะนี้จะนำไปสู่การไม่ยอมรับกัน แม่จะไม่ยอมเลี้ยงลูก และทำให้ลูกตายในที่สุด การจดจำกันได้แน่นแฟ้นเพียงพอหรือไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่อยู่ในซองคลอด การที่แม่ลูกซึ่งยังมีการจดจำกันได้ยังไม่แรงพอ หากออกจากพื้นที่คลอดเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกตายได้ โดยปกติแล้ว, แม่ลูกควรต้องอยู่ด้วยกันในพื้นที่คลอดอย่างน้อย 6 ชม.


4.การดูดนม
การคลอดทำให้เกิดการกระตุ้นทางสรีระและพฤติกรรมต่อลูก ทำให้ลูกพบตัวแม่และรับรู้ซึ่งนำลูกไปหาหัวนม ส่วนมากแล้ว, การดูดนมต้องเกิดขึ้นภายใน 2 ชม.

5.การติดตามแม่
แม่อาจจะออกจากพื้นที่คลอดไป แต่ลูกต้องการดูดนมทุก ชม. ลูกจึงต้องติดตามแม่ไปในฝูง ส่วนใหญ่แล้วลูกแพะจะจำแม่แพะได้ใน 12-24 ชม.หลังคลอด และจะดีขึ้นเรื่อย

 

ช่วงเวลาพฤติกรรมของแม่ลูก

แม่

คลอด –– ช่วงเวลาตั้งแต่เบ่งคลอดจนถึงลูกตัวสุดท้ายออกมา เฉลี่ย 60 นาที
ดม –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงแม่เข้าดมตัวลูกครั้งแรก เฉลี่ย 47 วินาที
เลีย –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงแม่เข้าเลียตัวลูกครั้งแรก เฉลี่ย 98 วินาที
เลี้ยงลูก –– ระยะเวลารวมที่ใช้ในการดมและเลียตัวลูก เฉลี่ย 12 นาที
ดูแลตัวเอง –– ระยะเวลารวมที่ใช้ในการเลียและเกาตัวเอง เฉลี่ย 0.59 นาที

การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด

..เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง


ลูก

พยายามยืน –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงลูกพยายามลุกยืน เฉลี่ย 7 นาที
ยืนได้ –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงลูกลุกยืนได้สำเร็จ เฉลี่ย 16 นาที
ยืนอยู่ –– ระยะเวลารวมที่ลูกใช้ในการยืนใน ชม.แรก เฉลี่ย 38 นาที
พยายามดูดนม –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงพยายามดูดนม เฉลี่ย 34 นาที
ดูดนมสำเร็จ –– ช่วงเวลาตั้งแต่คลอดเสร็จจนถึงดูดนมได้สำเร็จครั้งแรก เฉลี่ย 37 นาที
ระยะเวลาดูดนม –– ระยะเวลาที่ลูกใช้ในการดูดนมใน ชม.แรก 5 นาที

แนวทางการป้องกันแก้ไข

1.การจัดการช่วงคลอด
-จัดทำคอกคลอดโดยให้แม่แพะท้องแก่ที่เข้าสู่ช่วงคลอดเข้าอยู่ หรือเมื่อเริ่มแสดงอาการคลอด โดยเป็นคอกขนาดเล็ก

-ป้องกันการรบกวนจากแม่แพะตัวอื่น โดยลูกแพะและแม่แพะจะต้องอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการรบกวนในคอกคลอด และไม่ปล่อยออกนอกคอกคลอด อย่างน้อย 6-24 ชม.

-อย่าทำให้แม่แพะเกิดความตื่นกลัว, เครียด และการรบกวนอื่น ๆ จะทำให้มีการยับยั้งกระบวนการบีบตัวของมดลูก

-ไม่ปล่อยแม่แพะกลับสู่ฝูงเร็วเกินไป อย่างน้อยควรเป็นเวลา 1 สัปดาห์

-ต้องป้องกันตัวลูกให้พ้นจากความหนาวเย็น หรือ ร้อนจัด โดยควรอยู่ในคอกขังตลอดเวลา ไม่ปล่อยเดินตามฝูงตากแดด หรือออกจากโรงเรือนในเวลากลางคืน

2.โภชนาการช่วงตั้งท้อง
เสริมอาหารให้แม่แพะในช่วงคลอดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำนมไม่พอเพียง, น้ำหนักตัวลูกต่ำ แม่แพะที่อาหารไม่เพียงพอจะใช้เวลานานในการมีการเข้าหาลูก, ดุร้าย, ใช้เวลาเลียน้อย และ ใช้เวลากินหลังคลอดนานขึ้น

3.นมน้ำเหลือง
ดูแลให้ลูกแพะต้องได้กินนมน้ำเหลืองอย่างพอเพียง เริ่มตั้งแต่ใน ชม.แรก

ลักษณะการคลอดของแพะ
แม่แพะจะอุ้มท้องประมาณ 5 เดือน เมื่อท้องแก่สวาปทั้ง2ข้างของแม่แพะจะยุบลง และเมื่อใกล้เวลาคลอดราว 1-2 วันเต้านมจะโตเต็มที่ ก่อนคลอดแม่แพะจะกระวนกระวาย เดินไปมา อวัยวะเพศบวมแดง มีน้ำเมือกใสไหลออกมาลักษณะน้ำเมือกจะข้นขึ้นและขาวใสในที่สุด เมื่อมีน้ำเมือกสีขาวใสไหลจากช่องคลอดแสดงว่าใกล้คลอดในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว ลักษณะการคลอดแบบปกติของแพะมี 2 แบบคือ..

1.คลอดแบบขาคู่หลังออกมาก่อน
2.คลอดแบบขาคู่หน้าออกมาก่อน โดยหัวลูกแพะจะวางอยู่ระหว่างซอกขา หากเป็นการคลอดที่ปกติหลังขาหน้าโผล่มาจะเห็นจมูกลูกแพะโผล่ติดตามมา

ส่วนการคลอดที่ผิดปกติมีดังนี้

1.กรณีขาคู่หน้าออกมาแล้วอาจเกิดเหตุการณ์ที่หัวลูกแพะอาจพับแนบกับลำตัวทำให้คลอดยาก ต้องช่วยเหลือด้วยการดันกลับเข้าไปใหม่และจัดแจงให้อยู่ท่าปกติ

2.ขาคู่หลังหรือคู่หน้าออกมาเพียงข้างเดียวทำให้คลอดยากจึงจำเป็นต้องดึงขาคู่หลังให้ออกมาทั้งคู่

3.ลูกแพะอาจหันด้านก้นออกมา ทำให้ขาทั้งคู่แนบอยู่กับท้อง ต้องดันให้ลูกแพะกลับเข้าไปใหม่ แม่แพะต้องคลอดเสร็จภายใน 15 นาที หากทำไม่ได้ต้องช่วยเหลือและต้องช่วยเหลือให้เสร็จสิ้นภายใน 45 นาที ส่วนการคลอดแบบแฝดนั้น จะคลอดแบบสลับกัน คือถ้าตัวแรกเอาขาคู่หน้าออกตัวหลังก็ควรเอาขาคู่หลัง การสังเกตุว่าแม่แพะคลอดลูกหมดหรือยังนั้นสังเกตุได้จากรก เพราะเมื่อคลอดเสร็จรกจะออกมาจากท้องด้วย แต่ก็มีบางครั้งที่รกตกค้าง ดังนั้นต้องคอยดูแลหากผิดสังเกตุเกินเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาสัตวแพทย์.

เรียบเรียงจาก
Raymond N. and P. Poindron. 2006. From birth to colostrum: early steps leading to lamb survival. Reprod. Nutr. Dev. 46 (4) 431-446. DOI: 10.1051/rnd:2006023Reprod. Nutr. Dev. V.46, No.4. Retrieved from: http://rnd.edpsciences.org/articles/rnd/pdf/2006/05/r6409.pdf.
http://www.animals-farm.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%B0/
M. Martínez, J. Otal, A. Ramírez, M. L. Hevia, and A. Quiles. 2009. Variability in the behavior of kids born of primiparous goats during the first hour after parturition: Effect of the type of parturition, sex, duration of birth, and maternal behavior. J Anim Sci 87: 1772-1777. Retrieved from http://jas.fass.org/cgi/reprint/87/5/1772.pdf.
http://pvlo-pni.dld.go.th/index.php/survive-goatkid
http://thaigoatclub.blogspot.com/2007/09/blog-post_21.html
Poindron, P., Martin, G. B., & Hooley, R. D. 1979. Effects of lambing induction on the sensitive period for the establish- ment of maternal behavior in Domestic Sheep and Goats: The two facets of maternal attachment. Developmental Psychobiology. Retrieved from: http://houptlab.org/Courses/ChemSensesPapers/Keller03.pdf.

แก้ไขข้อความ