เลี้ยงสัตว์ » วิธีใช้สารยูเรียเพิ่มโปรตีนในอาหารสัตว์…+1

วิธีใช้สารยูเรียเพิ่มโปรตีนในอาหารสัตว์…+1

21 มิถุนายน 2018
7644   0

ในปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งที่มาจากพืช และชนิดที่มาจากสัตว์ เช่น พวกกากถั่วต่างๆ และปลาป่น ฯลฯ มีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอันมาก เนื่องจากอาหารโปรตีนชนิดต่างๆเหล่านี้เป็น ส่วนประกอบสำคัญในอาหารหลักของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น สุกร เป็ด ไก่ ฯลฯ

สำหรับสัตว์กระเพาะรวม หรือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ ฯลฯ การให้อาหารข้นเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารหยาบ

แนวทางที่นำวัสดุอาหารที่ให้โปรตีนสูงๆมาทดแทน อาหารโปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การใช้ไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (Non-Protein Nitrogen หรือ NPN.) มาใช้ผสมในอาหาร-สัตว์นั้น เป็นไปได้มากในสัตว์เคี้ยวเอื้องเท่านั้น เนื่องจากสัตว์เคี้ยวเอื้องมีความสามารถ ใช้ประโยชน์จากแหล่งโปรตีนคุณภาพต่ำ และจากสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน แล้วสามารถเปลี่ยนให้เป็นโปรตีน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวสัตว์เองได้โดยขบวนการของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในกระเพาะส่วนหน้า ซึ่งสัตว์กระเพาะเดี่ยว ไม่สามารถทำได้

เนื่องจากความแตกต่างกันทางระบบย่อยอาหารของสัตว์ทั้ง 2 ชนิด แหล่งของไนโตรเจนที่ใช้ได้แก่ ยูเรีย ไบยูเรต ไดแอมโมเนียม ฟอสเฟต ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ ปุ๋ยยูเรีย หรือที่รู้จักกันในหมู่เกษตรกรผู้ใช้คือ ปุ๋ยเย็น หรือปุ๋ยน้ำตาลยูเรีย จะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆขนาดเล็กมีสีขาวขุ่น หาซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง และสะดวกในการใช้ยูเรียเป็นสาร ประกอบมีไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 46% ในการวิเคราะห์หาโปรตีนทั่วไป นิยมวัดปริมาณไนโตรเจนเป็นหลักแล้ว คูณด้วย ปริมาณโปรตีนเฉลี่ย 16% (6.25) ดังนั้น ยูเรียจะมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากับ 287.5 เปอร์เซ็นต์

การนำปุ๋ยยูเรียมาใช้ประโยชน์

ปุ๋ยยูเรียสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ 2 ประการคือ นำผสมลงในอาหารข้นโดยตรง หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ทั้งนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ จุดประสงค์ของการนำยูเรียมาใช้ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติ และลดต้นทุนค่าอาหาร โดยจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางโภชนะเป็นสำคัญ วิธีนี้นับการใช้ปุ๋ยยูเรียผสมน้ำราดผสมกับฟางข้าวหมักทิ้งไว้ 21 วัน โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 6 เปอร์เซนต์ ก็จะทำให้ฟางข้าวหลังการหมักแล้ว มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น สะดวกสำหรับผู้ใช้ และสัตว์เลี้ยงจะได้รับประโยชน์จากปุ๋ยยูเรีย โดยตรงจากการสลายตัวในกระเพาะหมัก หรือในส่วนของลำไส้เล็ก เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจแล้ว ราคายูเรียจะถูกกว่า และ ให้ปริมาณของโปรตีนมากกว่าการใช้ปลาป่นและกากถั่วต่างๆ

ซึ่งการใช้ปุ๋ยยูเรีย เป็นแหล่งโปรตีนผสมในอาหารข้น จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยจุลินทรีย์นั้นต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยได้ง่ายๆ (แป้ง) เพียงพอ เช่น ข้าวโพด ปลายข้าว มันเส้น รำละเอียด ฯลฯ มีแร่ธาต ุและวิตามิน ผสมอยู่ด้วย การให้สัตว์เคี้ยวเอื้องกินยูเรีย โดยตรง หรือผสมกับน้ำให้กินในปริมาณมากๆ สัตว์อาจจะตายได้ เนื่องจากยูเรียสามารถสลายตัวให้แอมโมเนียในกระเพาะรูเมน ถ้าสัตว์ได้รับยูเรียในระดับสูง หรือในสภาพที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดแอมโมเนียในกระเพาะ เกินกว่าที่จุลินทรีย์จะนำไปสร้างโปรตีนได้ทัน ร่างกายจึงต้องมีการกำจัดออก โดยเปลี่ยนเป็นยูเรียที่ตับ และขับออกทางปัสสาวะ ถ้าระดับของแอมโมเนีย สูงเกินกว่าร่างกายจะกำจัดได้ทัน ก็จะเกิดเป็นพิษสัตว์อาจถึงตาย ถ้าช่วยไม่ทัน ดังนั้น ก่อนนำยูเรียไปใช้ผสมในสูตรอาหาร จึงควรศึกษาให้ดีเสียก่อน

ปริมาณที่ใช้ผสมในอาหาร

การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น สำหรับเคี้ยวเอื้องแต่ละประเภทจะต่างกันไป เช่น..

-ฉลอง(2532) รายงานว่า ยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับเมล็ดข้าวโพด 6 กิโลกรัม จะให้คุณค่าเท่ากับกากถั่วเหลือง 7 กิโลกรัม ถึงแม้การใช้ยูเรียร่วมกับเมล็ดข้าวโพด ราคาถูกกว่าการใช้กากถั่วเหลืองล้วนๆ ก็ตาม การใช้ยูเรียในสูตรอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงๆ เช่น ในโคนมก็มีข้อจำกัด คือ ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคนม ที่ให้ผลผลิตต่ำกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ ของสูตรอาหารข้น และสำหรับโคนมที่ให้ผลผลิตนมสูงกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 0.75 เปอร์เซนต์ ของสูตรอาหารข้น หรือ ไม่ควรใช้ในสูตร อาหารข้นเลย

-(Mudd,1977) ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคเนื้อใช้ได้สูงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารข้น

-(Corse,1981) และโค-กระบือที่มีน้ำหนักมากกว่า 350 กิโลกรัม ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 136 กรัม/ตัว/วัน โค-กระบือมีน้ำหนักระว่าง 230-350 กก. ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 90 กรัม/ตัว/วัน และโค-กระบือมีน้ำหนักระหว่าง 130-230 กก. ควรได้รับยูเรีย ไม่เกิน 45 กรัม/ตัว/วัน

-(สมิต,2532) การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น นอกจากจะต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทอย่างเพียงพอแล้ว ควรผสมกำมะถันลงในสูตรอาหารด้วย เพื่อให้จุลินทรีย์ในกระเพาะสามารถผลิตกรดอะมิโนที่จำเป็น ชนิดที่มีกำมะถัน เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยได้ กำมะถันที่ใช้ประมาณ 0.10.2 เปอร์เซนต์ หรืออัตราส่วนของยูเรียต่อกำมะถันคือ N:S=10:1(ไนโตรเจน/ซัลเฟอร์)

นอกจากจะใช้ยูเรียผสมในสูตรอาหารข้นแล้ว ยังสามารถใช้ยูเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพ หรือคุณค่าทางอาหารของอาหาร หยาบที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ฯลฯ ให้ดีขึ้นโดยใช้ยูเรีย 6 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำหมักกับฟางข้าวใช้เวลา 21 วัน แล้วนำออกใช้เลี้ยงโค-กระบือ ฟางหมักยูเรียจะให้คุณค่าทางอาหาร และการย่อยได้สูงกว่าฟางข้าวธรรมดา (สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่, 2525) ซึ่งสมคิด และคณะ(1984) รายงานการใช้ฟางข้าวหมักยูเรีย แล้วนำมาเลี้ยงโคนมสาวเปรียบเทียบ กับการเลี้ยง ด้วยฟางข้าวธรรมดาหญ้าแห้งและหญ้าสด ปรากฎว่า การเลี้ยงด้วยฟางหมักยูเรีย จะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักใกล้เคียงกับ การใช้หญ้าแห้งและหญ้าสด และสูงกว่าโคที่เลี้ยงด้วยฟางข้าวธรรมดา นอกจากนั้นสมคิด และคณะ(1984) ยังรายงาน ไว้ด้วยว่าการใช้ฟางข้าวหมักยูเรียเป็นอาหารหยาบ เลี้ยงโคกำลังรีดนมโคสามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้ไม่แตกต่างกับโคที่กินหญ้าสด

นอกจากนั้น อาจใช้ยูเรีย 1.52 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 7.5 กิโลกรัม ผสมน้ำราดบนฟางข้าวให้โคกระบือ กินได้ทันที (จีระชัย และบุญล้อม,2529,และจินดา และคณะ,2527) วิธีนี้ถ้าใช้เลี้ยงโค-กระบือเป็นเวลานานๆควรต้อง เสริมวิตามินเอ ดี และอี ด้วย

ขบวนการใช้ประโยชน์ของโปรตีน จากอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง

การย่อยสลายของอาหารโปรตีนแท้ และไนโตรเจนที่มาจากโปรตีนไม่แท้ ในสัตว์เคี้ยวเอื้องจะเกิดขึ้น เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไปถึงกระเพาะหมัก ซึ่งที่นั่นจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และหลายชนิดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของ อาหารที่เป็นโปรตีนแท้ จะถูกย่อยสลายให้เป็นแอมโมเนีย โดยจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะไหล ผ่านไปยังกระเพาะจริง และลำไส้ สำหรับสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (ยูเรีย) จะถูกย่อยสลายเป็นแอมโมเนียทั้งหมด

แอมโมเนียที่ได้จากโปรตีนแท้ และแอมโมเนียจากสารประกอบไม่ใช่โปรตีนทั้งหมดส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับพลังงาน โดยจุลินทรีย์ เพื่อการเจริญเติบโตของตัวมันเอง กลายเป็นจุลินทรีย์โปรตีนแอมโมเนีย บางส่วนจะผ่านเข้ามาในระบบการย่อยอาหารใหม่ทางน้ำลาย และผนัง ของกระเพาะรูเมน ซึ่งการหมุนเวียนของแอมโมเนียระบบนี้ จะสามารถช่วยให้สัตว์เคี้ยวเอื้องได้รับไนโตรเจนเพิ่มขึ้น ในช่วงระยะที่สัตว์อดอาหาร หรือได้รับอาหารมีไนโตรเจนต่ำ โดยการใช้ประโยชน์จากแอมโมเนียส่วนนี้ สำหรับบางส่วนที่เหลือ จะถูกส่งไปที่ตับเปลี่ยนเป็น ยูเรีย และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จุลินทรีย์โปรตีน และโปรตีนที่เหลือจะผ่านมายังกระเพาะจริง และลำไส้เล็ก ซึ่งจะถูกย่อยสลาย และถูกดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการดำรงชีพการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตสำหรับตัวสัตว์ต่อไป ส่วนที่ไม่สามารถสลาย และดูดซึมได้ก็จะถูกขับออกมาจากร่างกายทางอุจจาระ

ข้อเสนอแนะ ในการใช้ยูเรียผสมในอาหารสัตว์

1.ใช้อาหารผสมยูเรียเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะรูเมน เจริญเติบโตแล้วเท่านั้น อย่าใช้ยูเรียกับลูกสัตว์หรือสัตว์ กระเพาะเดี่ยว

2. ใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น ที่มีโปรตีนหยาบต่ำกว่า 13 -14 เปอร์เซ็นต์

3. ในสูตรอาหารจะต้องมีคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยง่ายอยู่สูง เช่น มันเส้น ข้าวโพด รำละเอียด ปลายข้าว ฯลฯ

4.ยูเรียไม่มีพลังงานแร่ธาตุ และวิตามินการใช้ยูเรียเป็นแหล่งไนโตรเจน แทนโปรตีนธรรมชาติ จึงควรเสริมโภชนะ เหล่านี้ลงไปด้วย

5.การใช้ยูเรียผสมในอาหารข้นไม่ควรเกิน 3 เปอร์เซนต์ ของอาหารข้น หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณวัตถุแห้งที่สัตว์กินได้ หรือเกิน 30 กรัมต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม

6. ยูเรียจะมีรสชาดเฝื่อน สัตว์ไม่ชอบกิน ควรผสมกากน้ำตาล เพื่อเพิ่มรสชาด

7. ควรใช้ยูเรียผสมลงในอาหารวันละน้อย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับที่ต้องการ เพื่อสัตว์จะได้มีเวลาปรับตัว

8.การผสมยูเรียลงในอาหารข้น ต้องผสมให้เข้ากันดีอย่าให้เป็นก้อน และไม่ควรใช้ยูเรียละลายน้ำให้สัตว์ดื่มโดยตรง เพราะสัตว์จะกินเข้าไปครั้งละมากๆ และอาจเป็นอันตรายได้

การเป็นพิษจากยูเรีย และการรักษา

ยูเรียเองไม่เป็นพิษต่อสัตว์ การเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อยูเรียสลายตัวได้แอมโมเนีย ซึ่งตัวแอมโมเนียนี้เองจะเป็นพิษ กับเนื้อเยื่อ เมื่อสัตว์กินอาหารมีโปรตีนสูงๆ หรือสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้มากเกินไป เช่น ยูเรียจะมีผลให้ในกระเพาะ รูเมน ผลิตแอมโมเนียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเกินกว่า 2 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะแสดง อาการเป็นพิษ และถ้าแอมโมเนียในเลือดสูงถึงระดับ 3 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะเป็นอันตรายถึงตายได้

อาการที่เห็นทั่วไปคือ หลังจากกินยูเรียเข้าไปประมาณ 20 นาที จะแสดงอาการน้ำลายฟูมปากหายใจลึก หรือหายใจลำบากมีอาการทาง ประสาทกล้ามเนื้อ ชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด

วิธีรักษา
(Fraser,1963,Dinningetal.,1984) วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดพิษได้ โดยการใช้น้ำส้มสายชู และน้ำเย็นอัตรา 1:1 กรอกใส่ปากให้เร็วที่สุด (Pieter และdeKock,1962; Clarke and Clarke, 1963 และ Church, 1979)

สรุป

การใช้ปุ๋ยยูเรียทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติในอาหารข้น สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้น จะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และสามารถทำให้การผลิตสัตว์ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้โปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ถ้าผู้ใช้จะได้ทำ ความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยูเรียอย่างถูกต้อง กับขนาด และชนิด ของสัตว์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากยูเรียได้อย่างมีประสิทธิ ภาพยิ่งขึ้น สำหรับการใช้ยูเรียเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว จะสามารถทำให้อาหารหยาบนั้น มีคุณภาพสูงพอ ๆ กับหญ้า โดยจะมีการย่อยได้ของวัตถุแห้ง และปริมาณการกินได้ของสัตว์เพิ่มขึ้น.

———————————-

เพิ่มเติม..

ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 25 ฉบับที่ 1

ผู้แต่ง: น.สพ.กฤช พจนอารี

ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พวกเราทุกคนมีโอกาสเสี่ยงกับการเจออาการยูเรียเป็นพิษกันทุกคน ทำไมน่ะเหรอครับ ก็เพราะการใช้ยูเรียเป็นส่วนประกอบในอาหารนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แทบจะเรียกได้ว่า นอกจากสูตรของลูกโคแล้วทุกสูตรจะมียูเรียผสมอยู่หมด รวมไปถึงอาหารหยาบหมักอีกหลายชนิดด้วยที่มีการเติมยูเรียเข้าไปในส่วนประกอบ ไม่แปลกแล้วก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะจริงๆ แล้วยูเรียถึงเป็นอาหารโปรตีนที่ราคาถูกที่สุด เทียบกับหน่วยต่อหน่วยยังไงก็ถูกกว่า แล้วถ้าใช้ในปริมาณ สัดส่วน วิธีการที่ถูกต้องนี้ไม่มีผลเสียอะไรเลย แต่ถ้าผิดพลาดขึ้นมาส่วนใหญ่จะจบลงด้วยความเศร้าครับ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตกันเลยทีเดียว

ที่เคยเกิดความผิดพลาดขึ้นมีหลายกรณีครับ เช่น เติมยูเรียเกินจากที่คำนวณหรือกำหนดไว้ เติมไม่เกินแต่ผสมไม่เข้ากัน ยูเรียกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ เลยมีเยอะเป็นหย่อมๆ หรือยูเรียจับตัวเป็นก้อนเพราะถูกความชื้น เคยเจออยู่บ้านนึง รางอาหารเอียงไปด้านท้ายคอกแล้วใช้ยูเรียผสมกากน้ำตาลราดฟางให้กิน ปรากฏว่าวัวที่อยู่ท้ายคอกตาย วัวต้นคอกไม่เป็นอะไรเลย เพราะน้ำยูเรียไหลไปทางท้ายคอกหมด

รายละเอียดในการใช้ยูเรียก็มีผลกับความปลอดภัยเหมือนกัน เช่น ต้องมีสัดส่วนพอเหมาะกับกำมะถันในสูตรอาหาร ต้องมีน้ำให้โคกินตลอดเวลา ต้องมีอาหารประเภทแป้ง พลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องพวกนี้โดยทั่วไปจะไม่มีปัญหาเพราะคนคำนวณสูตรมักจะจัดเตรียมไว้ตามตำราว่าไว้อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะบางวันทุกอย่างมันไม่ได้ถูกต้องตามกำหนด เช่น กำมะถันหมดก็คิดว่าคงไม่เป็นไร ไม่ต้องใส่ก็ได้ หรือมียูเรียเหลือเศษติดก้นถุงอยู่หน่อยเดียว เลยแถมใส่ไปให้มันหมดๆ จะได้เก็บกวาดบริเวณที่เก็บวัตถุดิบให้สะอาดเรียบร้อย

ไม่ว่าสาเหตุของการเป็นพิษจะมาจากอะไรหรือใครก็ตาม อาการที่เราจะเห็นได้ก็คือ วัวจะล้มตายในทันทีหลังกินอาหาร หรือบางตัวจะพยายามวิ่งมาที่อ่างน้ำเพื่อกินน้ำ แต่ตายระหว่างทางหรือตายหลังกินน้ำ นี่คือกรณีกินเยอะ ถ้ากินน้อยหน่อยก็จะเห็นว่ายืนสั่น ท้องอืด เดินเซ ซึม นอน แล้วแต่ระดับความรุนแรงครับ ตัวที่ไม่ตายในทันที ก็อาจจะค่อยๆ ซึมลงซึมลง แล้วตายหลังจากวันนั้น 2 ถึง 3 วัน หรือบางตัวนานเป็นสัปดาห์

การช่วยเหลือ สามารถทำได้ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงเพราะในกลุ่มที่อาการรุนแรงช่วยยังไงก็ตายอยู่ดีปล่อยให้ตายเอง เอาเวลามาช่วยตัวที่มีโอกาสรอดดีกว่า วิธีช่วยก็มีตั้งแต่กรอกน้ำส้มสายชูตัวละ 1 ถึง 2 ลิตร เพื่อให้ไปสลายฤทธิ์ของยูเรีย ตามหลักที่ว่า กรด + ด่าง จะได้น้ำ + เกลือ เพราะยูเรียเมื่อย่อยสลายในกระเพาะรูเมน (กระเพาะหมัก) ของโคจะได้แอมโมเนียซึ่งเป็นด่างรุนแรง เมื่อเราให้กินน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นกรด ด่างเจอกรดก็จะแตกตัวสลายกลายเป็น น้ำ + เกลือ ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับโค บางคนอาจจะกังวลว่าถ้าให้กรดเยอะเกินไปจะเป็นอันตรายกับโค ก็อยากจะบอกว่าไม่ต้องห่วงครับ น้ำส้มสายชูเป็นกรดที่ไม่รุนแรง ไม่ระคายเคืองมากนัก อีกอย่างหนึ่งโคสามารถรับมือกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะได้ดีครับมันสามารถจัดการทำลายสภาวะกรดได้โดยการเคี้ยวเอื้องเอาน้ำลายไปสลายกรดในกระเพาะได้ เราเองก็ช่วยได้อีกทางโดยให้โคกินอาหารหยาบคุณภาพดี อาหารหยาบจะมีฤทธิ์เป็นด่างครับ นอกจากการกรอกน้ำส้มสายชูแล้วที่ควรจะทำอีกก็คือ การให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดเพื่อช่วยขับความเป็นด่างที่อยู่ในเลือดให้หมดไป เพราะในสภาพความจริงกว่าเราจะรู้ว่าวัวกินยูเรียเข้าไปแล้วเป็นพิษ กว่าจะหาน้ำส้มสายชูมากรอกได้ ความเป็นพิษก็ถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือดไปแล้วหลายส่วน แนะนำอีกอย่างครับระหว่างที่ยังหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ควรทำคือ เอาน้ำเย็นๆ กรอกให้โคกินไปก่อนจะช่วยประทังอาการ บรรเทาความรุนแรงได้ เพราะ ..

1) น้ำช่วยเจือจางความเป็นพิษ

2) ความเย็นของน้ำจะช่วยลดอัตราการแตกตัวของยูเรีย การดูดซึมของแอมโมเนีย

3) โครู้สึกสบายตัวขึ้น ไม่กระวนกระวายมาก

อาการเด่นและรุนแรงอีกอย่างที่พบประจำก็คือ ท้องอืดอย่างรวดเร็วและรุนแรง โคอาจจะตายจากท้องอืดได้ ทั้งๆ ที่ระดับความเป็นพิษไม่รุนแรงมากนัก เพราะฉะนั้นต้องช่วยระบายแก๊สออกจากกระเพาะหมัก .. เอาล่ะเมื่อผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้ คะเนว่าโคตัวนี้น่าจะรอด เรื่องก็ยังไม่จบง่ายๆ หรอกครับ จะต้องให้ยาแก้ปวด แก้อักเสบในกระเพาะต่อ และที่ควรให้อีกอย่างก็คือ ยาเคลือบแผลในกระเพาะ เพราะโคที่กินยูเรียแล้วเป็นพิษ พวกนี้ถ้าผ่าซากดูตัวที่ตายไป จะพบว่าในหลอดอาหารกระเพาะหมักจะอักเสบรุนแรง เยื่อเมือกเป็นสีแดงเข้ม หลายตัวพบว่าผิวด้านในของกระเพาะหมักที่เป็นเหมือนขนสั้นๆ ที่เรียกผ้าขี้ริ้วนั้น ลอกออกได้อย่างง่ายดาย เปื่อยยุ่ยใต้ผิวด้านในที่ลอกออกจะพบจุดเลือดออกที่ผิวของกระเพาะขึ้นลึก เป็นลักษณะพิเศษที่พบได้ในกรณีนี้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นที่หลอดลม ปอด ก็จะพบการอักเสบที่รุนแรงเช่นกัน จะพบเยื่อเมือกเป็นสีแดงคล้ำจนถึงขั้นมีจุดเลือดออกให้เห็นปอดจะบวมน้ำรุนแรง คือเมื่อฝานเนื้อปอดทุกก้อน..

เรื่องที่น่าเจ็บใจก็คือ ต่อให้เห็นอาการชัดผ่าซากดูพบอาการของโรคชัด ยืนยันได้ 99% ว่าเป็นผลมาจากยูเรียเป็นพิษ แต่มักจะสาวไปถึงต้นตอยากโดยเฉพาะถ้าจะหาหลักฐานไปฟ้องศาลกันทำยากมากครับ เพราะ..

ยูเรียในตัวโค ไม่สามารถตรวจได้ เพราะมันสลายตัวเป็นแอมโมเนียไปหมด ยิ่งเมื่อเปิดผ่ากระเพาะแอมโมเนียก็ระเหยหายไปในอากาศหมด เพราะฉะนั้นจับตัวจำเลยไม่ได้จะๆซักที

-การจะเอาอาหารที่เหลืออยู่ไปตรวจว่ามียูเรียสูงกว่าค่ามาตรฐาน ก็มักจะไม่พบเพราะอาหารส่วนที่เราเก็บไปตรวจอาจไม่มียูเรียอยู่เลยหรือมีน้อย เพราะยูเรียกระจายตัวไม่ดี ส่วนที่มียูเรียเยอะอยู่ในท้องวัวไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ก็เลยเป็นอาหารปกติไปซะงั้น

-การตรวจอาหารโดยห้องตรวจโดยทั่วไปไม่สามารถตรวจยูเรียโดยตรงได้ เขาจะตรวจโปรตีน ไขมัน แป้ง ฯลฯ ถ้าจะตรวจยูเรียโดยตรง ถึงทำได้ก็คงจะต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายมหาศาล ไม่รู้ผลที่จะได้ออกมาจะคุ้มกับการลงทุนรึเปล่า

..เมื่อรู้แบบนี้แล้ว การป้องกันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวปวดใจกันภายหลัง ส่วนวิธีการป้องกันที่แต่ละคนจะเลือกนั้น คงต้องไปคิดกันเอาเอง หรือบางคนอาจจะปลงแล้ว บอกทำยังไงได้ต้องกินอาหารที่เขาผสมมาขายอยู่ดีผสมเองก็ไม่ไหว อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดห้ามกันไม่ได้ ถ้าคิดได้อย่างนั้นมันก็ดีครับ เพราะจริงๆ แล้ว ถึงจะป้องกันดีแค่ไหนก็ไม่มีทางป้องกันได้ 100% หรอกครับ ทางที่ดี ตุนน้ำส้มสายชูไว้เยอะๆ หน่อยก็แล้วกัน เพราะถึงไม่ได้ใช้กับโคก็ใช้ทำกับข้าว ใส่ก่วยเตี๋ยวทานได้อยู่แล้ว.

 

การเป็นพิษจากสารยูเรีย และการรักษา

เรียบเรียงใหม่จาก http://www.108kaset.com/index.php/topic,867-%E0%B8%AA%E0..