โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

วันวิสาขบูชา ประวัติ-ความสำคัญ- การเวียนเทียน

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ ได้แก่..

1.การประสูติ

2.ตรัสรู้

3.ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน)

ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

ประวัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

จากหลักฐานพบว่า วันวิสาขบูชา ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

..นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา ส่วนการเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยนั้นอาจเป็นเพราะเมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด จะเห็นได้ว่ามีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ซึ่งการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ..

 

ต่อมาภายหลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน.

วันวิสาขบูชามีความสำคัญอย่างไร ?

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) บรรจบกันทั้ง 3 คราว ได้แก่

เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญเดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วันวิสาขบูชา ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 บางแห่งอาจเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อจัดพิธีทำบุญใหญ่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญของโลก เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง องค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลก ประกาศบูชาวันวิสาขะ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวรและเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้ามาสักการะ

ในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางเข้าวัดบำเพ็ญกุศล ถือศีล ฟังธรรมแล้ว ยังนิยมการปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันก็จะมีการบำเพ็ญกุศลความดีอื่นๆ อาทิ ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็นกันเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่จะเริ่มทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวบทสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา ซึ่งโดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนที่จะเริ่มเวียนเทียน ส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติพิธีการเวียนเทียนกันอย่างเป็นทางการ มีพระสงฆ์เป็นผู้นำเวียนเทียนในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา หรือ 2 ทุ่ม โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดก่อนเริ่มการเวียนเทียนที่มีทั้งบาลีและคำแปลตามลำดับ ดังนี้

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุฯ
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
  8. บทสรรเสิรญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  9. บทสวดเนื่องในวันวิสาขบูชา

เมื่อสวดจบแล้วก็จะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา จากนั้นจึงเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยในขณะที่เดินพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวดบท..

อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด

สวากขาโต (รอบที่สอง)

และระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด ปะฏิปันโน (รอบที่สาม)

จนกว่าจะเวียนครบ 3 รอบ เมื่อเดินเวียนครบแล้วให้นำธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี.

ขอบคุณ
 th.wikipedia.org
http://event.sanook.com/day/visakha/
http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php