สุขภาพ-ชีวิต » โรคเก๊าท์คืออะไร, อาการ, อาหารอะไรที่ควรงด ?

โรคเก๊าท์คืออะไร, อาการ, อาหารอะไรที่ควรงด ?

4 พฤษภาคม 2018
4463   0

โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่พบว่ามีขึ้นมาตั้งแต่กว่า 2,000 ปี และถูกเรียกว่าเป็นโรคของราชาหรือโรคของผู้มั่งคั่ง นั่นก็เพราะว่าโรคนี้มักจะเกิดกับพระราชาและผู้ที่มีอันจะกินหรือกินดื่มอย่างราชามากกว่าในคนทั่วไปนั่นเอง..

แต่ในยุคปัจจุบันนี้ โรคเก๊าท์ได้กลายเป็นโรคที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ผู้ที่มีความมั่งคั่งเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าโรคเก๊าท์เกิดจากนิสัยการบริโภคแบบผิดๆ มากกว่าการกินดีอยู่ดีจนเกินไปอย่างที่เคยเข้าใจในอดีตนั่นเอง..

โรคเก๊าท์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างฉับพลัน รวมถึงยังมีอาการข้อแข็ง และบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อนิ้วมือ.. ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการของโรคเก๊าท์ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่ออื่นๆ ได้

โรคเก๊าท์เกิดจาก ร่างกายมีกรดยูริคในเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมกรดยูริคเป็นระยะเวลาที่ยาวนานหลายปี จึงทำให้กรดยูริคตกตะกอน สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

-ถ้ากรดยูริคสะสมมากที่ข้อต่อ ก็จะเกิดอาการข้อต่ออักเสบ และปวดแดงร้อนบริเวณข้อต่อ

-ถ้ากรดยูริคสะสมอยู่ตามผิวหนังมาก จะส่งผลให้เกิดปุ่มนูนบนขึ้นตามผิวหนัง

-ถ้ากรดยูริคสะสมที่ไตมาก ก็จะเกิดเป็นโรคนิ่วในใตและเกิดอาการใตเสื่อม เป็นต้น

 

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดมากเกินไป (hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมีคำอธิบายที่ยังไม่ชัดเจน แต่มีความเชื่อว่าปัจจัยทางด้านพันธุกรรมน่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว

เมื่อกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น อาจตกผลึกในข้อต่อ ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงอาการปวด และบวมของข้อต่อ

..ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างพบว่าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของกรดยูริกโดยตรง ได้แก่

  1. การมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
  2. รับประทานอาหารที่มีพิวรีน (purine) สูง เช่น เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย
  3. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  4. ยาบางชนิดที่อาจเพิ่มระดับของกรดยูริก เช่น แอสไพริน (aspirin) ไนอาซิน (niacin) หรือการใช้ยา-ขับปัสสาวะ (diuretics)
  5. ความเจ็บป่วยหรือสภาวะทางการแพทย์บางประการ เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือโรคความดันโลหิตสูง
  6. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาท์ด้วยสาเหตุจากกรรมพันธุ์จะพบได้ 1 ใน 4 ดังนั้นหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเกาท์ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเกาท์ให้สูงขึ้นไปอีกนั่นเอง

ถ้าหากในร่างกายมีกรดยูริคมากเกินไป

ตามปกติแล้วร่างกายของคนเรา จะขับกรดยูริคที่เกินความจำเป็นออกไป ได้ทางปัสสาวะ แต่ในร่างกายของบางคนไม่สามารถขับกรดยูริคออกไปได้หมด จึงเกิดกรดยูริคสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณของกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต(ที่เป็นตัวฟอกเลือด+ขับกรดยูริคไปทางปัสสวะ) ดังนั้น การขับกรดยูริคออกไปไม่หมดจนตกตะกอนมากๆ จึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเก๊าท์ 

อาการของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ในระยะเริ่มแรก คือมีอาการปวดแดงอย่างเฉียบพลัน โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุด และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า จุดที่จะแสดงอาการก่อนส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้แก่นิ้วโป้งเท้า และตรงข้อเท้า และข้อเข่า หลังจากเวลาผ่านไปในวันที่สองอาการปวดก็จะเบาบางลงและหายปวดใน 5 – 7 วันหลังเกิดอาการ..

อาการที่เด่นชัดของโรคเก๊าท์ คือ โพดากร้า (podagral) ซึ่งจะมีอาการอักเสบของข้อที่นิ้วหัวแม่เท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด รวมถึงสังเกตได้ว่าข้อเท้ามีอาการบวมแดงและร้อน อาการปวดมักจะเริ่มต้นในช่วงกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดอาจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง

การรักษาและป้องกันโรคเก๊าท์

เป้าหมายของการรักษาโรคเก๊าท์ คือ การบรรเทาอาการปวดให้หายไปอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสียหายของข้อต่อและไต การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ยาสามารถป้องกันการกำเริบของโรคเก๊าท์ได้ในอนาคต

การรักษาโรคเก๊าท์ในระยะแรก

ในช่วงแรกที่โรคเก๊าท์แสดงอาการ จะวิธีรักษาเบื้องต้นคือ แพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยการ งดทานอาหารที่จะทำให้เกิดกรดยูริคสูงในกระแสเลือด รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ จะช่วยให้ร่างกายสามารถขับกรดยูริคให้ออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้มากขึ้น นอกจากนี้การดื่มนมสด ก็สามารถช่วยลดกรดยูริคในร่างกายได้ ในกรณีที่รักษาและดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการกำเริบมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อปี อาจต้องเข้ารักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับยาลดกรดยูริคเป็นกรณีพิเศษ

จากสถิติการป่วยด้วยโรคเกาท์พบว่า ผู้ชายมักจะเกิดเกาท์ได้ง่ายในช่วงอายุ 30-50 ปี ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิดเกาท์ได้ในช่วงอายุหลังวัย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ชายก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นเกาท์ได้มากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่าอีกด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในคนที่มีอายุมากขึ้นจะต้องระมัดระวังโรคเกาท์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ชายในช่วงวัยดังกล่าว.

การรักษาโรคเก๊าท์แบบเฉียบพลัน

  1. พักการใช้ข้อที่มีภาวะอักเสบ
  2. ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม
  3. ใช้ยาแก้ปวดในทันทีที่อาการของเก๊าท์กำเริบ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาโคลชิซีน (colchicine) รวมถึงยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน ( oral corticosteroids)

อาหารที่คนเป็นโรคเก๊าท์ควรงด

เนื่องจากโรคเก๊าท์ เป็นโรคที่เกิดจากการการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต การกินอยู่ ดังนั้นหากจะแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งได้แก่อาหารต่อไปนี้

  1. เห็ด
  2. เนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด
  3. เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
  4. ไข่ปลา
  5. ปลาดุก, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน
  6. กุ้ง
  7. ผักชะอม, ผักกระถิน, ผักสะเดา
  8. กะปิ
  9. น้ำต้มกระดูก
  10. ซุปก้อน

เนื้อแดงแหล่งของสารพิวรีน

อย่างที่รู้กันดีว่าอาหารที่มีพิวรีนสูงนั้นมีหลายชนิด แต่ที่พบสารพิวรีนมากที่สุดก็คือเนื้อแดงจากสัตว์นั่นเอง รวมถึงพวกเครื่องในสัตว์และปลาด้วย โดยเฉพาะปลาแฮร์ริง ปลาแอนโชวี ปลาเทราต์และปลาแมคเคอเรล เป็นต้น ..

ส่วนในพืชและถั่วจะพบพิวรีนในปริมาณปานกลางเท่านั้น ทั้งนี้นายแพทย์ไฮอน โชอิ ก็ได้กล่าวว่า สารพิวรีนที่พบอยู่ในเนื้อสัตว์และผักนั้นอาจเป็นสารพิวรีนคนละชนิดกันก็ได้ และอาหารที่ต่างชนิดกันก็อาจมีระดับของพิวรีนที่ต่างกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะร่างกายของคนเราสามารถดูดซึมสารพิวรีนจากอาหารต่างชนิดกันได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากันนั่นเอง

และจากการวิจัยของนายแพทย์โชอิ ก็พบว่าผู้ชายที่กินอาหารพวกเนื้อแดง จำพวกเนื้อวัว เนื้อหมูและเนื้อแกะสูงนั้นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเกาท์ได้มากกว่าชายที่กินเนื้อสัตว์เหล่านี้น้อยหรือกินไก่และเนื้ออื่นๆ ที่มีมันน้อย จึงสรุปได้ว่าการกินเนื้อแดงจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นไปอีก ส่วนผู้ที่กินอาหารพวกพืชและเมล็ดพืชที่มีพิวรีนสูงนั้น แทบไม่พบการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเกาท์เลย..

นอกจากนี้ก็ยังพบอีกว่าผู้ที่ชอบกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมากและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วยจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น นั่นก็เพราะว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปรบกวนการขจัดกรดยูริคออกจากร่างกาย เป็นผลให้ปริมาณของกรดยูริคสูงขึ้นและตกผลึกตามข้อจนเกิดการอักเสบในที่สุด.

 

 

**สรุปข้อแนะนำเพื่อบำบัดโรคเกาท์

– พยายามควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนเกินไป เพราะจะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงการในเป็นโรคเกาท์หรือทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินก็ให้ลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่หักโหม ซึ่งหากทำได้นอกจากจะมีหุ่นที่ดีขึ้นแล้ว ก็ช่วยให้อาการทุเลาลงและลดความเสี่ยงการป่วยเกาท์ได้ดีเช่นกัน

– ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้วหรือวันละ 2 ลิตร เพราะน้ำจะช่วยลดความเข้มข้นของกรดยูริคได้ดีและเร่งการขับกรดยูริคออกจากร่างกายอีกด้วย

– เน้นการกินผัก ผลไม้เป็นหลัก พร้อมทั้งเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตชนิดขัดสี รวมถึงพวกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอย่างเด็ดขาด

– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะมีสารพิวรีนสูงมากและยังเป็นตัวการเร่งการสังเคราะห์กรดยูริคในร่างกายอีกด้วย

– เลี่ยงการทานพวกเครื่องในสัตว์และอาหารทะเลบางชนิด เช่น ตับ ตับอ่อน ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ ปลาทูน่าและปลาเทราท์ เป็นต้น นั่นก็เพราะอาหารเหล่านี้มีสารพิวรีนสูงมาก จึงอาจไปเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดจนทำให้เป็นกาท์ได้นั่นเอง ส่วนผู้ที่เป็นเกาท์อยู่แล้วก็ควรเลี่ยงอย่างเด็ดขาดเช่นกัน

– กินอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป โดยควรจำกัดเนื้อสัตว์ไว้ที่วันละ 120-180 กรัมเท่านั้น

– จำกัดปริมาณของอาหารที่มีไขมันสูง โดยพยายามกินให้น้อยที่สุดหรือเลือกกินเฉพาะที่มีไขมันดีเท่านั้น ส่วนน้ำมันสกัดก็ให้จำกัดไว้ที่วันละ 3-6 ช้อนชา

– แอลกอฮอล์ทุกชนิดล้วนเป็นตัวการเพิ่มการผลิตกรดยูริคในร่างกาย และอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะพวกวิสกี้

การกินวิตามินซีอย่างต่อเนื่องวันละ 500 มิลลิกรัม พบว่าจะสามารถลดระดับกรดยูริกในร่างกายได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนที่จะเสริม เพราะในบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถเสริมวิตามินซีได้

จากการวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเกาท์ได้เหมือนกัน แต่ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกัน เพราะในบางคนที่เป็นโรคอื่นอาจไม่สามารถดื่มกาแฟได้

เชอร์รี่เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของโรคเกาท์ได้ ดังนั้นจึงควรกินเชอร์รี่บ่อยๆ พร้อมสลับไปกินผลไม้อื่นๆที่ดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

  1. การป้องกันการเกิดภาวะอักเสบของเกาต์ในระยะยาว สามารถใช้ยาที่ช่วยลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาที่ยับยั้งเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase inhibitors) หรืออาจใช้ยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย (uricosuric)
  2. รับประทานยาตามที่แพทย์โดยเฉพาะยาที่ช่วยลดกรดยูริกอย่างเคร่งครัด
  3. ลดน้ำหนักให้อยู่ในช่วงมาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงลดการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
  4. โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของข้อ อันเนื่องมาจากการตกผลึกของกรดยูริกภายในข้อ โดยหลาย ๆ ปัจจัยสามารถส่งผลเพิ่มระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ เช่น การทานอาหารทะเล หรือการดื่มแอลกอฮอล์ โดยการรักษาและป้องกันโรคเกาต์ที่มีประสิทธิภาพ ควรเน้นย้ำในเรื่องของการใช้ยาอย่างเคร่งครัดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง

คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคเก๊าท์ 

วิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้องของคนที่ป่วยเป็นโรคเก๊าต้องทำอย่างไรคะ?

คำตอบ: โรคเก๊าท์เป็นโรคของความผิดปกติของกรดยูริค เกิดผลึกยูริคสะสมอยู่ภายใน และภายนอกข้อ ทำให้เกิดการอักเสบของข้อชนิดเป็น ๆ หาย ๆ โรคนี้พบในอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ข้อที่พบว่าเกิดโรคบ่อย คือ ข้อนิ้วหัวแม่มือและหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อนิ้วมือ และข้อมือ สาเหตุที่แท้จริงไม่ทราบ แต่พบว่าเนื่องจากมีกรดยูริคในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริคในร่างกายได้มา 2 ทาง คือ จากอาหาร ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ปราซาดีน ขนมปังหวาน ปู กุ้ง หอย ดอกกระหล่ำ เห็ด และผักโขม เป็นต้น และจากร่างกายสร้างขึ้นมาเอง การรักษา คือ รับประทานยาค่ะ เพื่อต้านการอักเสบ และป้องกันการอักเสบของข้อ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค -ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ -เนื้อสัตว์ ปลาซาดิน ขนมปังหวาน ปู กุ้ง หอย -ดอกกระหล่ำ เห็ด หน่อไม้และผักโขม เป็นต้น -ควรควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนจนเกินไป ต้องระวังการขาดสารอาหาร และพลังงานพวกคาร์โบไฮเดรต -งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพระจะทำให้การขับถ่ายกรดยูริคน้อยลง -ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตร/วัน ประมาณ 8-10 แก้ว ช่วยขับถ่ายกรดยูริคและป้องกันการเกิดนิ่วในไต -ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุที่จะเกิดแก่ข้อ -ควรเข้าใจโรคเก๊าท์เป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมได้ ถ้ารับประทานยาและปฏิบัติตนได้ถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพิการของข้อ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดาทั่วไปได้ค่ะ – ตอบโดย วิภา สุวรรณชีวะศิริ (พญ.)

คำตอบ 2: หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล รวมถึงงดดื่มสุรา – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)

โรคเก๊าต์พอมีทางรักษาหายขาดมั้ยคะ?

คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถทำให้โรคสลบได้ เช่น การคุมอาหาร การรับประทานยา – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)

อาการปวดเข่าแบบเวลาเดิน หรือยั่งพับเพียบแล้วเจ็บจี๊ดๆ เหมือนกระดูกจะลั่นนี่มันเป็นอาการของโรคเก๊าหรือเปล่าคะเป็นมานานเกือบปี ไม่กล้าไปตรวจเลย หาข้อมูลทางเน็ตก็แล้วอาการใกล้เคียงมากค่ะ?

คำตอบ: จากอาการที่ผู้ป่วยเล่ามาลักษณะอาการคล้ายกับโรคเข่าเสื่อมมากกว่าค่ะ โรคเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของของผิดกระดูกบริเวณข้อต่อ ทำให้ผิดข้อต่อขรุขระค่ะ เวลาเดินจึงรู้สึกปวด ร่างกายจึงสร้างกระดูกข้อมาใหม่เกิดเป็นกระดูกงอก ทำให้เวลาเดินจะรู้สึกขัดๆปวดๆ หรือมีเสียงดังลั่นในเข่า มักจะมีอาการปวดตื้อหรือตุ๊บๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเริ่มขยับใช้งานข้อ โดยเฉพาะข้อที่ต้องรับ น้ าหนักตัว แต่ในที่สุดในระยะท้ายๆ ของการดำเนินโรค อาการปวดจะคงอยู่แม้ในขณะพัก อาจมีข้อบวมเป็นพักๆ รู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรงหรือมีอาการเข่าทรุดหรือเข่าผิดรูปได้ค่ะ แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์ศัลยกรรมกระดูกนะคะ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ – ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)

หมอบอกว่าเป็นโรคเก๊าให้กินยาแล้วก้็หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง ห้ามกินอะไรบ้างครับ?

คำตอบ: โรคเกาต์ เป็นโรคข้อซึ่งเกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนตกตะกอน ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ อาหารที่ทำให้มีกรดยูริกสูงที่สำคัญได้แก่ เหล้าและเบียร์, เครื่องในสัตว์ และ อาหารทะเลจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ ส่วนสัตว์ปีก และ สัตว์เนื้อแดงไม่จำเป็นต้องงด ยกเว้นในผู้ป่วยรายที่มีประวัติว่ามีการกำเริบชัดเจนหลังรับประทานอาหารดังกล่าว สำหรับผักส่วนใหญ่มีปริมาณกรดยูริกค่อนข้างน้อย สามารถรับประทานได้ตามปกติ – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

อยากทราบว่าผู้ป่วยโรคเก๊า ซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเอง โดยที่ไม่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเลย เมื่อถึงเวลาที่โรคมีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

คำตอบ: ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเก๊าท์แล้วซื้อยาทานเองจะมีความเสี่ยงมากครับ เนื่องจากจะไม่ได้รับการตรวจติดตามอาการ เช่น ระดับกรดยูริกในเลือด ข้ออักเสบที่กำเริบหลายๆครั้ง จะทำให้มีการเสื่อมของข้อตามมาได้ในที่สุด – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)

อาการปวดบริเวณข้อที่นิ้วเท้า เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเก๊าท์ใช่ไหมครับ?

คำตอบ: อาการของโรคเก๊าต์มีอาการปวดบริเวณข้อที่เท้าได้ เป็นอาการที่พบบ่อยครับ แต่จะเป็นอาการปวดมาก มีบวม แดงร้อนบริเวณข้อที่เป็นเก๊าต์ ครับ แต่อาการปวดบริเวณที่ข้อนิ้วเท้าไม่ได้บ่งบอกแน่ชัดว่าเป็นเก๊าต์ ครับ ที่พบได้บ่อยกว่าคืออาการปวดจากข้อเสื่อม หรือมีการปวดจากที่ใส่รองเท้าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากอาการปวด เป็นมากตลออทานยาแก้ปวดไม่หายให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมครับ – ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)

เจ็บที่ข้อเท้า เป็นเพราะ เส้นเอ็นอักเสษหรือ โรคเก๊าคะ?

คำตอบ: ถ้ามีอาการปวด บวม แดง ร้อน รอบๆข้อ อาจเกิดจากข้ออักเสบ ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องครับ – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)

โรคเก๊าท์สาเหตุมาจากอะไรค่ะ?

คำตอบ: สาเหตุของโรคเก๊าท์เกิดจากการที่มีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปรกติ ซึ่งสาเหตุที่กรดยูริกสูงได้แก่ ภาวะที่มีการสร้างกรดยูริกสูง กรดยูริกในเลือดที่สูงจะเป็นผลมาจากการที่ขาดยีนในการสลายกรดยูริกแล้ว ยังพบว่ากรดยูริกในร่างกายจะได้มาจาก 2 แหล่ง คือ จากขบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกาย โดยการสลายโปรตีนและได้สารพิวรินออกมา ซึ่งกรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการนี้ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น สัตว์ปีก ของหมักดอง การขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง กรดยูริกที่สร้างขึ้นจะมีการขับออกจากร่างกาย 2 ทางหลัก คือ ขับออกทางระบบทางเดินอาหาร และ ซึ่งการขับออกทางระบบทางเดินอาหารจะขับออกได้ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน ขับออกทางไต ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 เป็นการขับออกทางไต ในคนที่เป็นโรคเก๊าท์ จะพบว่าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 มีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต กล่าวคือ ที่ความเข้มข้นของระดับกรดยูริกในเลือดที่เท่ากัน คนที่เป็นโรคเก๊าท์จะมีการขับกรดยูริกออกทางไตได้น้อยกว่าคนปกติที่ไม่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงถึงร้อยละ 40 แสดงว่า ความผิดปกติหลักในผู้ป่วยโรคเก๊าท์อยู่ที่ความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต ครับ – ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)