โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

รู้จักโรคแอนแทรกซ์ หรือโรคกาลี

https://goo.gl/VwYZrL
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com
ลักษณะโรค
โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร ..
โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง, ที่ปอดจากการสูดดม, ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เป็นเชื้อ aerobic, non-motile, spore-forming rod (1-1.25 ? 3-5 nm) จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยวๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมากทั้งความร้อนความเย็น และยาฆ่าเชื้ออยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆ ปี
โอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ และเชื้อคงทนในน้ำเดือดได้นานถึง 30 นาที

 

วิธีการติดต่อ
ในคน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ได้แก่ คนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะความยากจนเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมาบริโภค
อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารและออโรฟาริงมีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน แต่ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดของโรค (ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อม ๆ กัน โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้ง ขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป

 

ระยะฟักตัว
ในคน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน
ในสัตว์ ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป
อาการและอาการแสดง

อาการในคน พบได้ 3 ลักษณะ คือ
  • แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax) อาการที่พบคือ จะเริ่มเกิดเป็นตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในเวลาเดียวกันถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ(toxin) ของตัวเชื้อ อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก อยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 เท่านั้น
  • แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60
    หมายเหตุ: มีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า
  • แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) โดยทั่วไปจะพบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ อัตราการป่วยตายของผู้ป่วยระบบนี้จะสูงมากถึงร้อยละ 80-90
อาการในสัตว์
ในสัตว์มักพบว่ามีไข้สูง (107 องศาฟาเรนไฮท์ หรือประมาณ 42 องศาเซลเซียส) ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
ระบาดวิทยาของโรค
โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงของสัตว์แทบทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า อัตราป่วยตายสูงมาก คือร้อยละ 80 – 90 ส่วนมากมักจะเกิดในสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารก่อน เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า ลา และฬ่อ แล้วติดต่อไปยังสัตว์อื่น เช่น สุกร สุนัข แมว หรือสัตว์ป่าอย่างอื่นที่มากินซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
สถานการณ์โรคก่อนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศส่วนมากติดโรคจากโค กระบือ ยกเว้นมีบางครั้งที่ติดต่อจากแพะ ที่ปัตตานี และติดต่อจากแกะที่ลพบุรี ในระยะ 10 ปีเศษๆที่ผ่านมาไม่พบโรคนี้ในภาคใต้ แต่ยังคงพบโรคนี้ในภาคกลาง เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคเหนือที่ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี และถาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย อุบลราชธานี เป็นต้น ส่วนมากพบผู้ป่วยตามจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลักลอบนำโคกระบือติดโรคที่ยังมีชีวิตเข้ามาชำแหละเนื้อไปจำหน่าย หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เข้ามาจำหน่ายในราคาถูกๆ
การเกิดโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2543 มีรายงานสูงที่สุดในปี 2538 (ป่วย 102 ราย ไม่มีตาย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรเท่ากับ 0.17 ) สำหรับการเกิดโรคในปี พ.ศ. 2543 มีจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2542 (รูปที่ 5) แต่มีจำนวนครั้งที่เกิดโรคน้อยกว่า โดยในปี พ.ศ. 2542 มีผู้ป่วย 14 ราย มีการเกิดโรคทั้งหมด 4 ครั้ง ส่วนในปี พ.ศ. 2543 มีผู้ป่วย 15 ราย แต่มีการเกิดโรคเพียงครั้งเดียว ส่วนในปี พ.ศ. 2544 – 2547 สำนักระบาดวิทยา พบว่าไม่มีรายงานโรคแอนแทรกซ์ในคนเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย โดยปกติแล้ว อัตราการเกิดโรคนี้ต่อประชากรแสนคนอยู่ระหว่าง 0.02 – 0.17
การรักษา
การรักษาโรคแอนแทรกซ์ทั่วๆ ไป สามารถให้ยาเพนนิซิลลิน (penicillin) โดยให้ทางหลอดเลือดดำในขนาด 300,000 – 400,000 หน่วย/ กก. น้ำหนักตัว/ 24 ชั่วโมง หรือให้ด็อกซี่ซัยคลิน (doxycycline) ซี่งเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี เหมาะสำหรับเชื้อก่อโรคที่เป็นสายพันธุ์ปกติ สำหรับแอนแทรกซ์ผิวหนังเชื้อจะหมดจากแผลภายหลังการรักษา 24 ชั่วโมง และอาการบวมจะยุบลงใน 2-5 วัน โดยปกติเชื้อ Bacillus anthracis ไวต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาจะดีมากเมื่อเริ่มให้การรักษาในตอนแรก ๆ ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อเข้าไป เพราะถ้ารักษาช้าเชื้อจะสร้างสารพิษ (toxin) ขึ้นมามาก การรักษาจะไม่ค่อยได้ผล สำหรับการให้ยาป้องกันในผู้สัมผัสเชื้อให้รับประทาน doxycycline ขนาด ๑oo มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ ๒ ครั้ง หรือ ciprofloxacin ขนาด ๕oo มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ ๒ ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ในการนำส่งวัตถุตัวอย่างตรวจ การเก็บวัตถุตัวอย่าง ซึ่งประเทศไทยมีเครือข่ายการตรวจวินิจฉัย มีดังนี้
  • การตรวจวินิจฉัยโรคในคนและการทดสอบยืนยันเชื้อ Bacillus anthracis ติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลทั่วไป, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0-2589-9850-8 ต่อ 9409 โทรสาร 0-2591-5449, e-mail: sudejsi@health.moph.go.th
  • การตรวจวินิจฉัยโรคในสัตว์ หรือสิ่งส่งตรวจที่ได้จากสัตว์ รวมทั้งการทดสอบยืนยันเชื้อ Bacillus anthracis ติดต่อได้ที่กลุ่มงานแบคทีเรียวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกลาง ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 0-2579-8908-14 โทรสาร 0-2579-7591.
สำหรับเครือข่ายการตรวจวินิจฉัยในต่างประเทศ มีดังนี้
  • Anthrax Section, Division of Biologics Centre for Applied Microbio-logy and Research, Porton Down, Salisbury, Wiltshire sP4 OJG, UK
  • Centers for Disease Control and Prevention, G-341600 Clifton RoadAtlanta GA 30333 Tel: (404) 639-2743 Fax: (404) 639-4421

การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ในระยะต้นจะให้ผลดี

โรคแอนแทรกซ์ระบบผิวหนัง
ในระยะเริ่มต้นแผลจะเป็นตุ่มพอง (vesicle) ให้ใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ 2 อัน ซับของเหลวจากแผล
  • ไม้พันสำลีอันแรกซับแล้วป้ายบนสไลด์ ปล่อยให้แห้งแล้ว fix โดยจุ่มใน absolute methanol นาน 3 นาที หรือ heat fix สำหรับย้อมวิธี M’ Fadyean ต่อไป
  • ส่วนไม้พันสำลีอันที่สอง ป้ายบน blood agar ทันทีเพื่อเพาะเชื้อต่อไป หรือใส่ใน Stuart transport medium ส่งห้องปฏิบัติการ
  • ในระยะที่แผลตกสะเก็ด แผลจะแห้งลงให้ใช้ forceps ปราศจากเชื้อแกะสะเก็ดขึ้นและใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ 2 อันชุบด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ แล้วซับส่วนที่อยู่ใต้สะเก็ด หรือใช้ capillary ดูดของเหลวภายใต้สะเก็ด
  • การย้อมและเพาะเชื้อควรทำก่อนที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยสารต้านจุลชีพ เนื่องจากจะไม่พบเชื้อหลังให้ยา 24 ชั่วโมง
โรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงให้เก็บอุจจาระในขวดปราศจากเชื้อส่งเพาะเชื้อ
  • มีอาการรุนแรงให้เจาะเลือดป้ายสไลด์ เพื่อย้อมด้วยวิธี M’Fadyean และเพาะลง blood agar โดยตรง หรือทำ haemo-culture หรือเพาะเชื้อจาก peritoneal fluid
  • รายที่เสียชีวิตสามารถพิสูจน์เชื้อได้โดยเจาะเลือดได้เนื่องจากเลือดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตไม่แข็งตัว นอกจากนี้ยังอาจเพาะเชื้อและย้อมเชื้อได้จากเลือดที่มีในจมูก ปาก ทวารหนัก แต่ถ้ายังพิสูจน์เชื้อไม่ได้ให้ย้อมและเพาะเชื้อจาก peritoneal fluid, ม้าม หรือ mesenteric lymph nodes
โรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยหนักควรเจาะเลือดย้อมและเพาะเชื้อ
  • เก็บตัวอย่างด้วยวิธี Nasal swab
  • เก็บเสมหะย้อมและเพาะเชื้อ
  • รายที่เสียชีวิตให้พิสูจน์เชื้อเช่นเดียววิธีที่กล่าวแล้วในผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหารที่เสียชีวิต
การเก็บตัวอย่างจากสัตว์
การเก็บตัวอย่างเพื่อพิสูจน์เชื้อจึงควรทำอย่างเร็วที่สุด คือ ควรเก็บภายใน 1 – 2 วัน หลังสัตว์ตาย สิ่งส่งตรวจที่ดีที่สุด คือ เลือด ลักษณะของเลือดสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ เป็นสีดำ เม็ดเลือดแตก และไม่แข็งตัว
ตัวอย่างที่ใช้ตรวจพิสูจน์เชื้อในสัตว์แบ่งตามชนิดดังนี้
  • ซากสัตว์ที่ตายภายใน 1 – 2 วัน เก็บจากการตัดปลายหู หรือเจาะจากเส้นเลือดที่คอ หู หรือหาง ป้ายเลือด 2 – 3 หยดบนสไลด์สำหรับย้อมวิธี M’Fadyean และใช้เลือดอีกส่วนหนึ่ง นำไปเพาะเชื้อบน blood agar โดยตรง ในหมูจะไม่พบเชื้อในเลือดเนื่องจากหมูไม่มีภาวะ bacteremia เหมือนพวกสัตว์กินพืชอื่นๆ แต่จะมีการบวมที่คอ จึงควรป้ายสไลด์และเพาะเชื้อจาก ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขากรรไกรล่างและ suprapharyngeal ส่วนหมูที่ตายด้วย Intestinal anthrax ควรป้ายสไลด์และเพาะเชื้อจาก mesenteric lymph node
  • ซากสัตว์ที่ตายเกินกว่า 2 วัน มักมีเชื้ออื่นปนเปื้อน และเจริญแข่งและแย่งกับเชื้อ B. anthracis ทำให้ไม่พบเชื้อโดยการย้อม ดังนั้นในการพิสูจน์เชื้อจากซากสัตว์ที่ตายเกิน 2 วันจึงต้องใช้วิธีเพาะเชื้อเท่านั้น ตัวอย่างส่งตรวจที่ควรเก็บสำหรับเพาะเชื้อ คือ สิ่งสกปรกที่บริเวณนี้ซึ่งอาจมีเลือดปนที่ติดใต้จมูกและทวาร เนื่องจากมี terminal hemorrhagic exudates และตัวอย่างดินบริเวณรอบๆ และใต้ซากสัตว์ที่ตาย
  • สิ่งส่งตรวจอื่นๆ ได้แก่ ขนสัตว์ หนังสัตว์ กระดูก จากแหล่งที่มี endemic, สิ่งปนเปื้อนและดินจากพื้นที่ที่เคยฝังซากสัตว์ และจากบริเวณที่เคยมีกิจกรรมเกี่ยวกับสัตว์ เช่น โรงฆ่าสัตว์ โรงฟอกหนัง เป็นต้น หรือในสิ่งแวดล้อมที่เคยมีการระบาด เช่น ของเสียและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น โดยนำตัวอย่างที่จะส่งตรวจประมาณ 25 กรัม ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อที่มีฝาปิด ส่งห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อ
ข้อแนะนำและมาตรการควบคุมโรคเบื้องต้น
สำหรับมาตรการในระยะระบาด ระหว่างการสอบสวนโรค
  • ค้นหาแหล่งโรค หรือแหล่งชำแหละซากสัตว์ และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำลายเชื้อโดยการเผาหญ้าราดน้ำยาฆ่าเชื้อไลโซล โรยปูนขาวบริเวณที่ชำแหละสัตว์ คอกสัตว์ บริเวณที่สัตว์ตาย สำหรับซากสัตว์ หนังสัตว์ เศษกระดูกที่เหลืออยู่เก็บรวบรวมแล้วเผาทำลาย ให้หมด
  • ให้สุขศึกษาแก่ผู้สัมผัสและประชาชนในพื้นที่ของทุกหมู่บ้าน ให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ ถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และให้สุขศึกษาเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์และการป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดความตื่นตระหนกลง
  • รวบรวมผลการสอบสวนโรคเสนอที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการเฝ้าระวังโรคและการป้องกันการระบาดของโรคต่อไปในอนาคต
ในส่วนของจังหวัด:-
  • เฝ้าระวังโรคโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปเยี่ยมประชาชนในหมู่บ้านเกิดโรค 20 วัน เพื่อติดตามผู้ป่วยรายเก่า และค้นหาผู้ป่วยรายใหม่
  • แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ให้ทราบ และเฝ้าระวังสัตว์ในพื้นที่
  • แจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งในเขต เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชน
  • ชี้แจงประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมทั้งประกาศเตือนในการบริโภคเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน รถประชาสัมพันธ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายการวิทยุ และสถานีโทรทัศน์
ในส่วนของปศุสัตว์:-
  • ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกบริเวณจุดเกิดโรคโดยเด็ดขาด และหากมีสัตว์ป่วยตาย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์โดยทันที ห้ามมิให้กระทำการใดๆ ต่อสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ รวมทั้งไม่ให้มีการฆ่า หรือชำแหละสัตว์ในบริเวณนั้น จนกว่าโรคจะสงบ
  • ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้กับสัตว์รอบจุดเกิดโรค
  • ฉีดยาปฏิชีวนะให้กับสัตว์ร่วมฝูงที่ยังมีชีวิตอยู่
  • พ่นยาฆ่าเชื้อโรค และโรยปูนขาวในบริเวณที่เป็นแหล่งเกิดโรค
  • ติดตามซากสัตว์ที่หลงเหลืออยู่มาทำลายโดยการฝังหรือเผา และทำลายเชื้อโรค
  • ติดตามรถเร่ขายเนื้อสัตว์ในตลาดนัดค้าสัตว์ เพื่อการเฝ้าระวังโรค
  • เฝ้าระวังโรคในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าโรคจะสงบ

ประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้ทราบถึงอันตรายของโรค และให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค

สำหรับมาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
  • พยายามหลีกเลี่ยงมิให้คนสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ป่วย
  • การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันมิให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะการให้วัคซีนสัตว์ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด การวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่กระทำโดยทันทีทันใดและการรักษาโรคในสัตว์ป่วย ตลอดจนการทำลายซากสัตว์ที่ตายโดยการฝังลึกๆ หรือโดยการเผา เป็นวิธีการควบคุมมิให้โรคแพร่กระจาย ซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ไม่ควรผ่าซาก ควรให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่เจ้าของฟาร์มสัตว์เกี่ยวกับโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอันตรายของโรค
  • การกำจัดซากสัตว์ป่วยอย่างปลอดภัยและการติดโรค ในพื้นที่ที่มีโรคแอนแทรกซ์ระบาดควรกักสัตว์ ที่อยู่ในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยนับวันแรกหลังจากพบโรคในสัตว์ตัวสุดท้ายที่เป็น
  • ในฝูงสัตว์ที่รีดนมควรมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และถ้าสัตว์ตัวใดแสดงอาการไข้เกิดขึ้นควรจับแยก และน้ำนมที่รีดมาควรทำลายทันที
  • ในแหล่งที่พบว่าโรคนี้ระบาดทั่วไปในสัตว์ มักจะพบว่าสภาพแวดล้อมแปดเปื้อนด้วยสปอร์ ดังนั้นในแหล่งที่สงสัยมีโรคควรใช้ ammonium quaternary compound ใส่ไปในโพรงน้ำ หรือแอ่งน้ำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค การควบคุมโรคในผลิตภัณฑ์สัตว์กระทำได้ยากมาก ทั้งนี้สปอร์ของเชื้อที่ทนทานต่อสารเคมีที่ฆ่าเชื้อต่าง ๆ
สำหรับมาตรการป้องกันเมื่อพบว่ามีสัตว์ตายโดยกะทันหัน และไม่ทราบสาเหตุการตาย โดยถ้ามีเลือดเป็นสีดำคล้ำไม่แข็งตัวไหลออกตามทวารต่างๆ
  • ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย หลายประเทศมีกฎหมายห้ามการผ่าซาก เนื่องจากเมื่อผ่าออก เชื้อ vegetative form ในร่างกายสัตว์จะได้รับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้มีการสร้างสปอร์ซึ่งมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ
  • ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 ซม. แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด
  • อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้
  • การสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ จะสามารถลดอัตราป่วยตายของโรค และลดการระบาดของโรคได้ด้วย

การป้องกันโรคนี้จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ด้วย เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ได้ โดยปกติจะทำวัคซีนในโค กระบือ และ/หรือสุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้

การควบคุมและป้องกัน
1. แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง
2. ฝังหรือเผาซากสัตว์ตลอดจนดินบริเวณที่สัตว์ตาย การฝังควรขุดหลุมลึกประมาณ 2 เมตร โรยปูนขาวบนตัวสัตว์ก่อนกลบดิน
3. ใช้นำยา ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide) 5-10% ราดฆ่าเชื้อ
4. กักดูอาการสัตว์ที่รวมฝูงกับสัตว์ป่วยหรือตาย
5. ฉีดวัคซีนให้สัตว์อายุตั้งแต่หย่านมขึ้นไป ในรัศมี 10 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค โดยฉีดทุกๆ 6 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี โค-กระบือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังตัวละ 1 มิลลิลิตร หลังฉีดวัคซีนแล้วบริเวณที่ฉีดจะบวม และสัตว์มีไข้เล็กน้อย 2-3 วัน วัคซีนนี้ไม่ควรฉีดสัตว์กำลังตั้งท้องเพราะจะทำให้แท้งได้

ขอบคุณ http://www.boe.moph.go.th/fact/Anthrax.htm
https://www.google.co.th/search?q=%E0%B9%82%E0..
http://region7.dld.go.th/DControl/Data/Disease/Cow/Anthrax.htm