เตือนภัย » หนอนตัวแบนนิวกินี โผล่ในไทย สุดอันตราย สับไม่ตายกลับขยายพันธุ์เพิ่ม

หนอนตัวแบนนิวกินี โผล่ในไทย สุดอันตราย สับไม่ตายกลับขยายพันธุ์เพิ่ม

9 พฤศจิกายน 2017
2811   0

อ่านฉบับ PC ได้ที่: www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php

พบ หนอนตัวแบนนิวกินี ในประเทศไทย ติด 1 ใน 100 สัตว์รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก สับไม่ตายแถมขยายพันธุ์เพิ่มอีกด้วย..

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ที่เว็บไซต์ siamensis.org มีการเผยแพร่ข้อมูลการค้นพบ หนอนตัวแบนนิวกินี ในประเทศไทย ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหนอนตัวแบนนิวกินี ถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น ว่า เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในนิวกินี และออสเตรเลีย

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ กลุ่ม siamensis.org กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบ ยืนยันว่ามีการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินีจริง ถือว่าเป็นรายงานครั้งแรกในไทย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการระบาดในประเทศที่เป็นแผ่นดิน หลังจากเคยพบการระบาดในเกาะสิงคโปร์ ขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างมาวิจัยและศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียด ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว

สำหรับการค้นพบเริ่มมาจาก นายมงคล อันทะชัย ได้โพสต์ภาพหนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินหอยทาก ในบริเวณบ้านแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด นำไปสู่การตรวจสอบจนมั่นใจว่าเป็นหนอนชนิดดังกล่าวจริง ๆ

 

ดร.นณณ์ บอกอีกว่า หนอนตัวแบนนิวกินี เป็น 1 ใน 100 เอเลี่ยนสปีชีส์ที่คุกคามระบบนิเวศระดับโลก และยังเคยมีรายงานว่า หนอนชนิดนี้ไม่ได้ล่าแต่หอยทากยักษ์ แต่กลับไล่ล่าหอยทากเฉพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ หนอนตัวแบนนิวกินีมีสองเพศในตัวเดียว แต่การสืบพันธุ์ต้องมีหนอนสองตัวจึงจะวางไข่ได้ ถ้าโตเต็มที่จะมีลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลมทั้งสองด้าน ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็ก ๆ ค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นส่วนปาก กินหอยทากเป็นอาหารหลัก แต่ก็กินไส้เดือนด้วย ในการกินหอยทากนั้นจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกินเข้าไป 

นอกจากนี้ ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อ Angiostrongylus cantonensis หรือพยาธิปอดหนู / พยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้ โดยพยาธิมีหนูเป็นพาหะหลักจึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดเชื้อและตายลง ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้ อาเจียน คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้พยาธิดังกล่าวในประเทศไทยก็มีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะอยู่แล้ว เช่น หอยทากยักษ์แอฟริกา และหอยในกลุ่มหอยโข่ง / ขม โดยจะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก รวมไปถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ ก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่สุกแล้วเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มหรือกรองมาก่อน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่

         หากถามถึงวิธีการกำจัดหนอนชนิดนี้ ดร.นณณ์ เผยว่า ให้ใช้น้ำร้อนลวกหรือหยอดด้วยเกลือป่น ห้ามใช้การสับหรือหั่น เพราะจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ และจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินว่าหนอนตัวแบนนิวกินี แพร่กระจายในพื้นที่ไหนบ้างแล้ว  และที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ก็ได้ทำบัญชีอัปเดตเอเลี่ยนสปีชีส์ที่รุกรานในไทยเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่มีรายงานพบหนอนตัวแบบนิวกินีมาก่อน ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานเข้ามาวิจัยเรื่องนี้โดยด่วนก่อนที่จะซ้ำรอยเดิมเหมือนกรณีของ หอยเชอรี่ ปลาซักเกอร์ และผักตบชวา ที่มีการแพร่ระบาดในระบบนิเวศจนควบคุมได้ยาก

และสำหรับใครที่พบหนอนตัวแบนนิวกินี ให้รายงานมาได้ที่เฟซบุ๊กกลุ่ม siamensis.org หรือกลุ่มไลน์งูเข้าบ้านที่ @sde5284v โดยขอให้ถ่ายภาพและระบุสถานที่พบเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการด้วย.

ขอบคุณ http://siamensis.org/article/41220
https://hilight.kapook.com/view/163222   …thai pbs