สถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำภาคกลางยังคงน่าเป็นห่วง เขื่อนเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ท้ายเขื่อนระดับน้ำสูงขึ้น ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ใกล้ล้น ต้องเร่งอัตราระบายน้ำเพิ่ม..
วันที่ 15 ตุลาคม 2560 มีการรายงานว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำภาคกลางยังคงน่าเป็นห่วง โดยที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก เขื่อนพระรามหก ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการระบายน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้ขึ้นธงเหลืองแจ้งสถานะเฝ้าระวังแล้ว
เขื่อนพระรามหก เป็นหนึ่งในจุดควบคุมปริมาณน้ำที่มาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ผ่านมาทางแม่น้ำป่าสักหรือแม่น้ำลพบุรี โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 503.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ลำน้ำต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับน้ำที่สูงขึ้น แต่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานก็ยืนยันแล้วว่า จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก
ส่วนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น วันนี้เป็นวันแรกที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้เริ่มระบายน้ำตามเพดานที่กรมชลประทานกำหนด ที่ 2,602 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะคงอัตรานี้ไว้อย่างต่อเนื่องตลอด 7 วัน แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้ น้ำในพื้นที่นครสวรรค์อยู่ในระดับที่ทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำในระดับนี้จะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เรื่อยมาถึง จ.สิงห์บุรี และ จ.อ่างทอง มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นราว 6-7 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ลุ่มนอกคันกั้นน้ำได้แก่บริเวณบ้านป้อม ต.บางหลวงโหลด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7-8 เซนติเมตร
สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ในขณะนี้พบว่า มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 7 อำเภอด้วยกัน ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ผักไห่ เสนา บางบาล บางปะอิน บางซ้าย และบางปะหัน โดยได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติอย่างเป็นทางการแล้ว
ในขณะเดียวกัน เขื่อนอุบลรัตน์ก็กำลังอยู่ในสถานะเฝ้าระวัง โดยมีระดับน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนกว่า 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 115.71 ของความจุ เขื่อนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้อีก เมื่อเทียบกับปี 2554 แล้ว พบว่าระดับความจุห่างกันเพียงแค่ 1 เซนติเมตรเท่านั้น จึงต้องเพิ่มปริมาณการระบายออกอย่างเร็วที่สุด
นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริการจัดการน้ำเป็นการด่วน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งหารือเกี่ยวกับการรับมือน้ำครั้งนี้ด้วย โดยที่ประชุมมิมติให้ระบายน้ำออกเป็นขั้นบันได จากเดิมระบายออกวันละ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เพิ่มวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงจำนวน 54 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 17 ตุลาคม 2560
ขอบคุณ ข่าว3มิติ
https://www.google.co.th/search?q=%E0%B9%80%E0%B8..