เลี้ยงสัตว์ » ห้ามนำเข้ากุ้งเครย์ฟิช รวมฝ่าฝืน-แอบทิ้งลงแม่น้ำ ปรับหนัก1-2 ล้านบาท

ห้ามนำเข้ากุ้งเครย์ฟิช รวมฝ่าฝืน-แอบทิ้งลงแม่น้ำ ปรับหนัก1-2 ล้านบาท

12 ตุลาคม 2017
2869   0

 

กรมประมง สั่งห้ามนำเข้ากุ้งเครย์ฟิช-ปลาพีค็อกแบสเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ชี้กระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมาก ระบุผู้เลี้ยงทุกรายต้องมาขึ้นทะเบียน พบลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำ เจอปรับหนัก 1-2 ล้านบาทแน่นอน

วันที่ 11 ตุลาคม 2560 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เผยว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทยหลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาซัคเกอร์, หอยเชอรี่, เต่าญี่ปุ่น รวมถึงปลาหมอสีคางดำ และปลาพีค็อกแบส ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำในธรรมชาติ

ทั้งนี้ ห้ามนำเข้าปลาหมอสีคางดำเด็ดขาด ซึ่งกรมประมงได้มีนโยบายเร่งกำจัดปลาชนิดนี้ และไม่ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน อีกทั้งมีรายงานพบการรุกรานในต่างประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกันสัตว์น้ำต่างถิ่นสายพันธุ์อื่น ๆ หากจะนำเข้ามาในประเทศก็จะต้องผ่านพิจารณาจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) เป็นรายชนิดอย่างละเอียด

ด้านบทลงโทษหากพบผู้ใดกระทำผิดฝ่าฝืนนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมประมง เผยว่า กรมประมงได้เร่งออกกฎกระทรวง โดยเฉพาะปลาพีค็อกแบสห้ามนำเข้าราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด หลังจากได้สำรวจเจอในแหล่งน้ำธรรมชาติ คาดว่ามีการลักลอบนำเข้ามาโดยไม่มีการยื่นขออนุญาต รวมถึงกุ้งเครย์ฟิชทุกสายพันธุ์ ได้ออกกฎห้ามนำเข้าประเทศไทยแล้วเช่นกัน เพราะกรมประมงไม่ส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชอยู่แล้ว เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดปัญหาเหมือนปลาซัคเกอร์ แต่ที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการต่างเสนอเหตุผลว่าสามารถเพาะเลี้ยงในไทยได้ผลดี และสามารถยกระดับรายได้เกษตรกร หากเลี้ยงได้ขนาดจะส่งขายราคาแพง เท่ากับกุ้งล็อบสเตอร์ ทางกรมประมงจึงยอม..

ทว่า ตอนนี้กลับมีราคาตกต่ำอย่างหนัก ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากสัตว์น้ำพวกนี้กินอาหารวันละ 500-600 บาท พอราคาตกก็จะไม่มีเงินซื้ออาหาร นำมาซึ่งการลักลอบนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติจนกลายเป็นปัญหา เกิดปลานักล่ากินสัตว์น้ำพันธุ์ท้องถิ่นและรุกรานที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมประมงได้ขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงและจำนวนกุ้งเครย์ฟิชไว้ทั้งหมด และออกกฎห้ามนำกุ้งเครย์ฟิชมีชีวิตเข้าภายในประเทศ ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงในนาข้าว แหล่งน้ำตนเองได้ขึ้นทะเบียนทั้งหมดแล้ว.

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php