สมุนไพรดอกอัญชันแก้โรคอะไรได้บ้าง นอกจากดอกอัญชันจะเป็นสมุนไพรที่เด่นเรื่องสีสัน คั้นแล้วนำมาย้อมผม-ทาคิ้วให้ดกดำได้แล้ว สรรพคุณของดอกอัญชันในการรักษาโรคก็มีอยู่อีกไม่น้อยเลยล่ะ
ภาพจาก pixabay
ดอกอัญชัน กับความเป็นมา
อัญชัน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Butterfly pea, Blue pea, หรือ Asian pigeonwings ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของดอกอัญชันก็คือ Clitoria ternatea L. โดยดอกอัญชันเป็นพืชล้มลุก จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว (Fabaceae) อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ และโดยทั่วไปจะนิยมปลูกดอกอัญชันในเขตร้อน
ลักษณะต้นอัญชันเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก ใบเป็นใบประกอบ ดอกอัญชันเป็นดอกเดี่ยว มีสีน้ำเงินเข้มหรือน้ำเงินอมม่วง และสีขาว ดอกชั้นในแบ่งเป็น 5 กลีบ กลีบนอกมีสีเขียว มีผลเป็นฝัก ลักษณะแบนคล้ายฝักถั่ว ขนาดยาวประมาณ 5-10 ซม. ดอกอัญชันมีชื่อเรียกตามท้องถื่นที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ในภาคเหนือจะเรียกดอกอัญชันว่า เอื้องชัน แต่ในจังหวัดเชียงใหม่จะเรียกว่าแดงชัน
ทำความรู้จักดอกอัญชันกันไปแล้ว คราวนี้เรามาดูกันค่ะว่า สมุนไพรดอกอัญชันแก้โรคอะไรได้บ้าง ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลย
สมุนไพรดอกอัญชันแก้โรคอะไรได้บ้าง
1. แก้ผมร่วง
ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานินซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็ก ๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมได้ดียิ่งขึ้น แก้อาการผมร่วงได้ดีในระดับหนึ่ง โดยหากจะใช้ดอกอัญชันแก้ผมร่วง ก็สามารถกินดอกอัญชันจิ้มน้ำพริก กินเป็นอาหารชนิดอื่น ๆ หรือจะตำดอกอัญชันประมาณ 1 หยิบมือ แล้วนำมาผสมกับน้ำเปล่า กรองเอาแต่น้ำดอกอัญชันมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วสระผมตามปกติก็ได้
2. แก้อาการตาฝ้าฟาง เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น
สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันสามารถช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น อาการตาฝ้าฟาง ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน และโรคต้อกระจกได้ เนื่องจากสารตัวนี้ที่มีอยู่ในพืชที่มีสีม่วง สีแดง หรือสีน้ำเงิน มีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของหลอดเลือดขนาดเล็กในดวงตา เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นให้เราได้
3. แก้อาการอาหารเป็นพิษ
จริง ๆ แล้วสารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันก็จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งและยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหาร ช่วยแก้อาการอาหารเป็นพิษหรืออาการท้องเดินได้ ซึ่งวิธีแก้ก็คือกินดอกอัญชันชุบแป้งทอด หรือจะดื่มน้ำอัญชันก็ได้ ทั้งนี้นอกจากดอกอัญชันแล้ว เรายังสามารถหาสารแอนโทไซยานินได้จากดอกกะหล่ำม่วงและมะเขือม่วงด้วยล่ะ
4. แก้ปวดท้อง
นอกจากสารชีวเคมีที่ได้จากพืชสีม่วง น้ำเงิน แดง อย่างแอนโทไซยานินแล้ว ในดอกอัญชันยังมีสารแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodic) ที่มีฤทธิ์ลดอาการหดเกร็งในช่องท้อง สามารถแก้ปวดท้องให้เราได้ด้วย..โดยการกินดอกอัญชันแก้ปวดท้องสามารถนำดอกอัญชัน 1 กำมือมาต้มกับน้ำแล้วจิบเป็นชาได้เลย
5. แก้ฟกช้ำ ลดอาการบวม
สรรพคุณข้อนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับสารแอนโทไซยานินอีกครั้ง ที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดขนาดเล็ก ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และพอมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงเซลล์ผิวที่ฟกช้ำหรือบวมมากขึ้น อาการผิดปกติเหล่านี้ก็จะบรรเทาลงได้ นอกจากนี้สารแอนโทไซยานินก็มีสรรพคุณช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ด้วย
6. แก้ปวดเมื่อย
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้แยกสารจากดอกอัญชันมาทำการทดลองแล้วพบว่า ในดอกอัญชันมีสารเทอร์นาทินส์ (Ternatins) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด และมีผลคลายกล้ามเนื้อเรียบในร่างกาย จึงช่วยลดอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นได้ โดยให้นำดอกอัญชัน 1 กำมือมาต้มกับน้ำ แล้วจิบเป็นชา
7. แก้ปวดฟัน
ตำรับยาพื้นบ้านมีการนำรากอัญชันมาถูที่ฟัน เพื่อช่วยลดอาการปวดฟันและบำรุงฟันให้คงทนแข็งแรง หรือบดดอกอัญชันผสมกับยาสีฟัน เนื่องจากสารในรากและทั้งต้นของอัญชันมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยบำรุงเซลล์และชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
8. แก้ปัสสาวะขัด
ในตำรายาไทยโบราณกล่าวไว้ว่า รากอัญชันมีฤทธิ์เย็น ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ และเป็นยาระบายได้ โดยสามารถนำรากอัญชันล้างสะอาดมาต้มกับน้ำแล้วจิบเป็นชาเพื่อดื่มแก้โรคปัสสาวะขัด
9. แก้ท้องผูก
ทั้งเมล็ดและรากของอัญชันมีฤทธิ์เป็นยาระบาย สำหรับคนที่มีอาการท้องผูกจึงสามารถต้มรากหรือเมล็ดอัญชันเพื่อดื่มเป็นยาระบายได้ แต่อาจพบอาการข้างเคียงเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ในบางคน
10. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
อย่างที่บอกว่าในดอกอัญชันมีสารชีวเคมีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แค่แอนโทไซยานินก็เป็นทั้งสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านอาการอักเสบแล้ว อีกทั้งสารในดอกอัญชันยังช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมเนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดขนาดเล็ก ดังนั้นกับพิษแมลงสัตว์กัดต่อยจนมีอาการบวมแดง แค่ใช้ดอกอัญชันตำให้ละเอียดแล้วเอามาพอกบริเวณที่มีอาการก็จะช่วยบรรเทาฤทธิ์แมลงสัตว์กัดต่อยได้แล้ว
11. บรรเทาอาการโรคหอบหืด
รากอัญชันมีรสขมเย็น ใช้กินสดหรือต้มเป็นน้ำดื่มจะช่วยลดอาการอักเสบของหลอดลม และบรรเทาอาการโรคหอบหืดได้ เนื่องจากสารจากรากอัญชันจะช่วยลดอาการอักเสบ พร้อมระบายของเสียออกจากร่างกาย ส่งผลให้อาการหอบหืดและระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีขึ้น
12. คลายเครียด แก้นอนไม่หลับ
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในกลุ่มสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดต่าง ๆ ที่ได้จากส่วนลำต้นเหนือดิน ใบ ดอก และรากของอัญชัน มีฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และความจำ รวมทั้งมีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล และยังมีฤทธิ์ช่วยในการนอนหลับ
13. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย จึงช่วยลดอัตราการเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมองได้ด้วย โดยสารตัวนี้จะป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมัน ที่เป็นสาเหตุของไขมันอุดตันเส้นเลือดนั่นเอง
14. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
สีจากสารแอนโทไซยานินเป็นที่กล่าวขวัญกันมาในหลายชนชาติ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ป้องกันแสงยูวี และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ด้วยนะคะ
อย่างไรก็ดี สรรพคุณทางยาบางอย่างของดอกอัญชันยังคงอยู่ในขั้นการทดลองและวิจัย ซึ่งยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากที่สุดต่อไป จึงยังไม่สามารถระบุขนาดและวิธีใช้ที่เหมาะสมได้
ทว่าอัญชันก็ใช่ว่าจะมีแต่คุณประโยชน์ เพราะโทษของดอกอัญชันก็มีเช่นกัน ซึ่งข้อควรระวังในการกินและใช้ดอกอัญชันก็มีดังนี้
โทษของดอกอัญชัน ใครกันต้องระวัง ?
ภาพจาก pixabay
– ควรระมัดระวังการรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และ warfarin เป็นต้น เนื่องจากอาจมีฤทธิ์เสริมกันจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย
– หากกินหรือดื่มดอกอัญชันมากเกินไป อาจเพิ่มภาระให้ไตทำงานหนักเพราะต้องขับสีจากดอกอัญชันออกมา ดังนั้นจึงควรดื่มและกินอัญชันแต่พอดี
– ผู้ป่วยโรคโลหิตจางก็ไม่ควรจะรับประทานดอกอัญชันรวมทั้งอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของอัญชันด้วย เพราะในดอกอัญชันนั้นมีสารที่มีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโลหิตจางได้
สมุนไพรดอกอัญชันมีสรรพคุณทางยาอยู่ไม่น้อย หากใครอยากใช้สมุนไพรไทยบรรเทาอาการป่วยที่ไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร ก็น่าลองสรรพคุณของดอกอัญชันเหมือนกัน แถมอัญชันยังนำมาทำอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิดเลยด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://health.kapook.com/view178644.html