ยวดยาน » มาดูรุ่นต่างๆของรถเก๋งมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ..ในไทย

มาดูรุ่นต่างๆของรถเก๋งมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ..ในไทย

26 กรกฎาคม 2017
5756   0

มิตซูบิชิ แลนเซอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ (Mitsubishi Lancer) เป็นรถรุ่นหนึ่ง ผลิตโดย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับ ฮอนด้า ซีวิค โตโยต้า โคโรลล่า และ นิสสัน ซันนี่ คือ เป็นรถรุ่นที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการใช้เป็นรถครอบครัวและรถสปอร์ตในคันเดียวกัน เพราะแลนเซอร์,ซีวิค,โคโรลล่าและซันนี่ จะไม่เล็กเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้มันเป็นรถครอบครัว แต่ก็จะมีสมรรถนะสูง เล็ก เพรียว กระชับ ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้มันเป็นรถสปอร์ต และมีราคาที่ถูก ดังนั้น รถสี่รุ่นในสี่ยี่ห้อนี้ จึงสามารถพบเห็นได้มากตามท้องถนน

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เริ่มผลิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน ผลิตรถออกมาทั้งสิ้น 9 รูปโฉม (Generation) และมียอดขายรวมทั่วโลก กว่า 6 ล้านคัน

แลนเซอร์ โฉมที่ 1-7 จัดอยู่ในประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) ส่วนโฉมที่ 8 เป็นต้นมา จัดอยู่ในประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็ก(Compact Car)

Generation ที่ 1 (พ.ศ. 2516 – 2523)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 1

โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทยมักเรียกว่า โฉมไฟแอล เนื่องจากไฟท้ายรถมีลักษณะเหมือนตัว L ในด้านซ้าย และ L กลับข้างในด้านขวา (ตัว L กลับหน้ากลับหลังเข้าหากัน) โฉมนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในวงการแข่งขันแรลลี่ มีการผลิตรถรุ่นนี้ถึง 12 โมเดล ตั้งแต่โมเดลมาตรฐานเครื่องยนต์ 1200 ซีซี ไปจนถึงโมเดลสปอร์ตแรลลี่ เครื่องยนต์ 1600 ซีซี GSR

มีตัวถัง 3 แบบ คือ Coupe 2 ประตู, Sedan 4 ประตู และ Station wagon 5 ประตู (จริงๆ แล้วมีตัวถัง Sedan 2 ประตูด้วย แต่ไม่เป็นที่รู้จักนัก)

โฉมนี้ ถูกส่งออกไปหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย , สหรัฐอเมริกา รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งจะมีการตั้งชื่อเรียกใหม่ในบางประเทศ เช่น ในออสเตรเลีย จะเรียกแลนเซอร์ว่า Chrysler Valiant Lancer และในสหรัฐอเมริกา เรียกแลนเซอร์ว่า Dodge Colt

  • รุ่นนี้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2517-2523

Generation ที่ 2 (พ.ศ. 2522 – 2531)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 2

โฉมนี้ พ่อค้ารถและวงการรถไทยเรียกโฉมนี้ว่า โฉมกล่องไม้ขีด ซึ่งโฉมนี้ได้รับการพัฒนามากในเรื่องของประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ในเรื่องของการใช้น้ำมันให้คุ้มค่ามากขึ้น การลดปริมาณเสียงในห้องโดยสาร และการผสมผสานเทคโนโลยีรถสปอร์ตเข้าไปเพื่อให้ผู้ซื้อรถสามารถสัมผัสความเป็นรถสปอร์ตได้บ้างในราคาที่ไม่แพง

แลนเซอร์โฉมนี้แทบทุกคัน เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์ประเภท JET ซึ่งไม่เหมือนกับเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์และหัวฉีดทั่วๆ ไป ตั้งแต่แบบอ่อนๆ 70 แรงม้า ไปจนถึงเวอร์ชันที่ “แรงสุดขั้ว” คือ 1800 GSR เครื่องซิริอุส 4G62 เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุดถึง 135 แรงม้า และในปี 2526 เพิ่มอินเตอร์คูลเลอร์มา ทำให้แรงม้าปรับไปเป็น 165 แรงม้า และแรงสุดในเวอร์ชันตัวที่ผลิตมาเพื่อ “แรลลี่” คือ 2000 EX เครื่องยนต์ 4G63 เทอร์โบ 170 แรงม้า และยังมีเวอร์ชันแรลลี่ ที่โมดิฟายได้ถึง 280 แรงม้า เพื่อลงแข่งรายการ 1000 Lakes Rally แต่ขายคนธรรมดาเป็นเวอร์ชันพิเศษ เพื่อให้ผ่านกฏข้อบังคับของ Production Car แต่กลับประหยัดน้ำมันได้ดี คือ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเมื่อวิ่งในเมือง 9.8 กิโลเมตรต่อลิตร และ 15.8 กิโลเมตรต่อลิตรเมื่อวิ่งในชนบท ซึ่งนับว่าประหยัดมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน และความแปลกใหม่ของเครื่องยนต์ และสมรรถนะที่ดี ก็เป็นอีกจุดขายหนึ่ง ที่ทำให้แลนเซอร์โฉมนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2523-2528

Generation ที่ 3 (พ.ศ. 2525 – 2528)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 3

โฉมที่ 3 ผลิตในช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันกับโฉมที่ 2 มักทำตลาดในชื่อ Lancer Fiore ในหลายจุด ยกเว้นในแถบออสเตรเลีย จะใช้ชื่อ Mitsubishi Colt และในแถบอเมริกา ใช้ชื่อ Dodge Colt ซึ่งพัฒนามาจากรถรุ่น Mitubishi Mirage ซึ่งได้รับกระแสตอบรับพอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน แลนเซอร์กับมิราจก็จัดเป็นรถขนาดเดียวกัน และกลายเป็นว่า มิตซูบิชิมีรถขนาดเล็กมากสองรุ่น ที่ขัดขาแย่งยอดขายกันเอง

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2526-2528 ในประเทศไทยจะมีชื่อเล่นว่า รุ่น กล่องไม้ขีด

Generation ที่ 4 (พ.ศ. 2526 – 2539)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 4

โฉมนี้ เป็นโฉมที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่ซ้อนทับกับโฉมที่ 2 มีรูปทรงคล้ายกัน แต่มีความเป็นรถธรรมดามากขึ้น ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดขับเคลื่อนล้อหน้าธรรมดา ไม่ใช้เครื่องยนต์ที่แปลกดังโฉมที่ 2 แต่ก็มีความทันสมัย เพราะระบบเครื่องยนต์หัวฉีด แทบไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น สมัยนั้นรถที่เป็นหัวฉีดส่วนใหญ่เป็นรถแข่ง รถสปอร์ตเต็มขั้น หรือรถหรูๆ จากตะวันตกเท่านั้น นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นระบบคาร์บูเรเตอร์ การนำระบบหัวฉีดมาใช้ในรถทั่วไปในสมัยนั้นจึงเป็นความทันสมัยอย่างหนึ่ง และระบบขับเคลื่อนล้อหน้า สมัยนั้นก็ไม่ค่อยมีเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหลัง ทำให้มีการนำแลนเซอร์โฉมที่ 4 ไปปรับแต่งเป็นรถสปอร์ตกึ่งครอบครัวเป็นจำนวนมาก และในประเทศไทย โฉมนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Champ เป็นการนำรุ่นล่างสุดมาใช้ชื่อ 3 รุ่น คือ แชมป์, แชมป์ทู และแชมป์ทรี

Champ

โดยผลิตระหว่างปี พ.ศ. 25282539 มีทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู และ สเตชันเวกอน 5 ประตู ในช่วงแรกที่เปิดตัวนั้น Lancer โฉมนี้ นับเป็นรถที่มีเครื่องยนต์และรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ 1,300 ซีซี , 1,500 ซีซี และรุ่นสูงสุดและเป็นตัวแรงในสมัยนั้นอีกคันก็คือ รุ่น 1,600 ซีซี ติดเทอร์โบ ใช้ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ โดยมิตซูบิชิตั้งชื่อทางการตลาดในแต่ละรุ่นว่า Lancer 1300, Lancer 1500 และ Lancer 1600 Turbo

Champ II

ในปี 2531 มีการปรับปรุงเล็กน้อย รุ่นเครื่อง 1,600 ซีซี Turbo ถูกตัดออกไป เหลือแค่เครื่อง 1,300 ซีซี ทำตลาดในชื่อ Champ II แล้วคาดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า New Generation Power ใช้เครื่องยนต์รหัส 4G13 4 สูบเรียง OHC 1,298 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ อัตราส่วนกำลังอัด 9.8 : 1 มีแรงม้า 71 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ช่วงปีหลังๆ มีรุ่น 3 ประตูท้ายตัดเครื่อง 1,500 ซีซี ออกมาขาย และรุ่น 1.5 กลับมาขายอีกครั้ง ใส่ล้อแม็กลายใหม่จาก Enkei เปลี่ยนชื่อจาก Lancer 1500 เป็น Lancer 1.5 หน้าปัดแบบดิจิตอล ในปี 2533 มีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ มีพวงมาลัยเพาเวอร์ให้ด้วย

Champ III

ในช่วงปลายอายุตลาด รุ่น 1,500 ซีซี ถูกปลดระวางไป รุ่น 1,300 ซีซี ยังอยู่ในชื่อ Champ III และ Catalytic Champ (ติดเครื่องกรองไอเสีย) ซึ่ง Mitsubishi เล็งเอาไว้จับตลาดล่างๆ ยิ่งกว่านั้นได้เคยมีการนำรุ่น 1,300 ซีซีไปขยายความจุเป็น 1,500 ซีซี เพื่อรองรับตลาดแท็กซี่มิเตอร์ และมีพรีเซนเตอร์หลายคน แตกต่างกันไปตามชนิดของตัวถัง ที่จะใช้พรีเซ็นเตอร์แตกต่างกันไป เช่น ลลิตา ศศิประภา หัทยา วงษ์กระจ่าง เป็นต้นและไม่มีการนำ Generation ที่ 5 มาทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจาก Mitsubishi Motors ได้ลงทุนเครื่องจักรครั้งใหญ่ เพื่อหวังจะส่งออกไปขายยังแคนาดา ไซปรัส ฯลฯ เพื่อให้คุ้มทุน จึงไม่มีการนำรุ่นที่ 5 มาขายในประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว แลนเชอร์โฉมนี้ยังช่วยให้มิตซูบิชิ ทำรถส่งออกไปขายแคนาดา และอิสราเอล ไซปรัส เป็นรายแรกของประเทศไทย (แม้จะมีกระแสข่าวลือว่ามีการตีกลับก็ตาม)

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2528-2539
  • รุ่นนี้เริ่มมีคนเอาไปทำเป็นแท็กซี่แล้ว

Generation ที่ 5 (พ.ศ. 2531 – 2534)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 5

โฉมนี้ ได้มีการออกแบบรถใหม่ให้ดูลู่ลมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวถังออกแบบให้คล้ายๆ มิตซูบิชิ กาแลนต์โฉมนี้ เน้นการผลิตรถแบบ station wagon กับ sedan

ในบางประเทศ มีการนำแลนเซอร์ไปทำเป็นรถตู้ Van แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม และโฉมนี้ ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย

  • รุ่นนี้ไม่มีขายในประเทศไทย

Generation ที่ 6 (พ.ศ. 2534 – 2539)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 6

โฉมนี้ เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย วงการรถตั้งชื่อโฉมนี้ว่า โฉม E-CAR ซึ่งมีการนำเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก มีความทนทาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 22 ปี ก็ยังสามารถเห็นแลนเซอร์โฉมนี้ได้ทั่วไปตามท้องถนน ในประเทศไทย แลนเซอร์โฉมนี้ มีทั้งการใช้เป็นรถส่วนตัว รถครอบครัว และแต่งเป็นรถสปอร์ต

เมื่อปี พ.ศ. 2535 Lancer E-CAR มีรุ่นย่อยดังนี้

  • 1.3 GL
  • 1.5 GLX
  • 1.6 GLXi (นำเข้า)
  • 1.8 GTi (นำเข้า)

ต่อมาเมื่อปี 2538 Lancer E-CAR ได้ยกเลิกการจำหน่าย 1.3 และ 1.8 เปลื่ยนระบบจ่ายเชี้อเพลิงในรุ่น 1.5 จากคาร์บูเรเตอร์เป็นระบบหัวฉีด ECi-MULTI และนำรุ่น 1.6 มาประกอบในประเทศ โดยคงเหลือรุ่นย่อย คือ

  • 1.5 GLXi
  • 1.6 GLXi

หลังจากนั้นมีการปรับโฉมเล็กน้อยในรุ่น 1.5 โดยขอบประตูจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ซึ่งของเดิมเป็นสติกเกอร์สีดำ เปลื่ยนกระจังหน้าใหม่แบบซี่ และเพิ่มไฟเบรกดวงที่สามในห้องโดยสาร และในรุ่น 1.6 มีการเปลื่ยนล้อแม็กซ์เป็นขนาด 14 นิ้ว เพิ่มไฟตัดหมอกหน้า และสปอยเลอร์หลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และปรับเปลื่ยนฝาครอบชุดดรัมเบรกหลัง

E-Car นับจากปี 2538 เป็นต้นมา เปลื่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ใช้น้ำยาเบอร์ R134A ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลดการใช้น้ำยาแอร์แบบ R12

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 Lancer E-CAR ได้ปรับโฉมโดยเปลื่ยนล้อแม็กซ์ลายใหม่ เปลื่ยนกันชนให้มีลักษณะยาวและหนาขึ้น รวมถึงเปลื่ยนกระจังหน้าใหม่ เปลื่ยนท่อร่วมไอดีในรุ่น 1.5 โดยตัวอักษรคำว่า ECi-MULTI จะเล็กลง และนำรุ่น 1.3 กลับมาเพื่อตอบสนองลูกค้าระดับล่าง โดยมีรุ่นย่อย ดังนี้

  • 1.3 EL
  • 1.5 GLXi
  • 1.6 GLXi

แต่ว่า ในตัวถังนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์สได้สร้างรถรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นเนื้อหน่อของแลนเซอร์ ซึ่งรถรุ่นที่ “แตกหน่อ” ออกมานี้ คือ Mitsubishi Lancer Evolutionซึ่งมีสมรรถนะสูงกว่าแลนเซอร์ธรรมดา เนื่องจากสร้างมาสำหรับการเป็นรถสปอร์ตแรลลี่โดยเฉพาะ แต่แลนเซอร์ อีโวลูชัน ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยนัก ด้วยเพราะผู้ซื้อนิยมนำรถแลนเซอร์ธรรมดาไปแต่งสปอร์ตเองมากกว่า นอกจากนี้ อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของไทยในยุคนั้นที่ค่อนข้างสูง ก็มีผลทำให้รถแลนเซอร์ อีโวลูชัน (ของจริง) ซึ่งผลิตในต่างประเทศ มีราคาในประเทศไทยแพงกว่ารถแลนเซอร์ทั่วไปมาก

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2535-2539

Generation ที่ 7 (พ.ศ. 2538 – 2544)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 7

โฉมนี้ แลนเซอร์ออกแบบมาคล้ายคลึงกับโฉมที่ 6 อย่างมาก ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นๆ จะมีอยู่สองจุดคือ ไฟท้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อน ต่างจากโฉมที่ 6 ซึ่งมีไฟท้ายเป็นแถบคาด และไฟหน้าของโฉมที่ 7 จะเหลี่ยมกว่า โฉมที่ 6 ส่วนอื่นคล้ายกันมาก เมื่อมองเผินๆ จะนึกว่าเป็นโฉมเดียวกัน ดังนั้น ในวงการรถไทยจึงตั้งชื่อโฉมว่า โฉมท้ายเบนซ์ เพื่อแยกความแตกต่างออกจากโฉม E-CAR

ส่วนสิ่งที่ Lancer ท้ายเบนซ์ ต่างจาก E-CAR คือ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง เป็น Invects II ระบบใหม่ และเครื่องยนต์ที่เพิ่มปริมาตรกระบอกสูบ แบ่งรุ่นย่อย ดังนี้

  • 1.5 GLXi
  • 1.6 GLXi

และต่อมาได้แตกออกมาเป็นรุ่น F-Style โดยมีเครื่องยนต์ปริมาตรความจุ ดังนี้

  • 1.6 GLXi Limited
  • 1.8 SEi Limited

อย่างไรก็ตาม โฉมนี้ก็จัดเป็นอีกโฉมหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มีการนำไปแต่งเป็นรถสปอร์ต นอกเหนือจากการใช้เป็นรถส่วนตัวและรถครอบครัว เช่นเดียวกับโฉมเดิม และปัจจุบัน ก็ยังสามารถพบเห็นรถโฉมนี้ได้ทั่วไปเช่นกัน และมิตซูบิชิยังผลิตแลนเซอร์รุ่นที่ 7 จากโรงงานส่งป้อนตลาดอยู่ในบางประเทศ เช่น ประเทศเวเนซูเอลา ถึงแม้จะออกแบบมานานถึง 16 ปีแล้ว มีการไมเนอร์เชนจ์เมื่อปี 2542 และไมเนอร์เชนจ์อีกครั้งเป็นรุ่น F-Style เมื่อปี 2543

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2539-2544

Generation ที่ 8 (พ.ศ. 2543 – 2556)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 8

แลนเซอร์ทุกรุ่นในประเทศไทยที่ออกหลังโฉมท้ายเบนซ์ จัดอยู่ใน Generation ที่ 8 รวมถึงโฉมปัจจุบันที่ยังขายในประเทศไทยด้วย ซึ่งโฉมนี้ จัดได้ว่าเป็นโฉมที่แลนเซอร์มีหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่รู้จักในไทยของโฉมที่ 8 คือโฉม Lancer Cedia ที่ขายในช่วง พ.ศ. 2544-2547 และปรับโฉมตามภาพที่แสดง และเพิ่มทางเลือกคือ New Lancer E20 และ Lancer CNG ที่ขายในไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน และในโฉมนี้ ใช้ระบบส่งกำลัง CVT 6 Speed แต่การทำงานต่างกับที่ใส่ใน Lancer EX ตัวปัจจุบัน

รุ่นปี 2001-2004 LANCER CEDIA (Century Diamond)

1.6 GLX Manual 1.6 GLXi CVT 1.6 GLXi Limited 1.8 SEi Lim18ited

รุ่นปี 2004 (ท้ายปี)- 2007 (กลางปี) LANCER NEW CEDIA (Minor Changed)

รุ่นปี 2004-2005 กันชนด้านหน้าและหลังจะเป็นแบบสั้น

  • 1.6 GLX Manual
  • 1.6 GLX CVT
  • 1.6 GLX Leather Package
  • 1.8 SEi
  • 2.0 SEi AT-Tiptronic +/- ไฟท้ายรมดำ
รุ่นปี 2006-2012 New LANCER
  • 1.6 GLX Manual
  • 1.6 GLX CVT
  • 1.6 GLX Leather Package
  • 1.6 Ralliart Limited Edition CVT ไฟหน้า ไฟท้ายรมดำ ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ เบาะคู่หน้าของRecaro
  • 2.0 Ralliart version 2005 AT-Tiptronic +/- พวงมาลัย evo7 ไฟหน้ารมดำ ไฟท้ายใส ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ
  • 2.0 Ralliart version 2006 AT-Tiptronic +/- พวงมาลัย evo7 GTA ไฟหน้ารมดำ ไฟท้ายใส ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ เรือนไมล์สีขาว 3 วง

รุ่นปี2008ทุกรุ่นรองรับ E20 และ CNG โดยยกเลิกรุ่น2.0 Ralliart และ 1.6 Ralliart Limited Edition ยังมีขายอยู่แต่ไม่มีเบาะRecaroแล้ว

และปี2009ยกเลิกรุ่น1.6 Ralliart Limited Edition แล้วขายไปเรื่อยๆจนหมดอายุตลาด

ปี 2012 หยุดทำการตลาดในประเทศไทย

โฉมนี้ เป็นโฉมที่สามารถขยายตลาดส่งออกได้ดีมาก แลนเซอร์โฉมนี้มีในทวีปอเมริกาเหนือ, ออสเตรเลีย, ปากีสถาน, อินเดีย, เม็กซิโก, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

แม้ปัจจุบันนี้ แลนเซอร์ในตลาดสากลจะก้าวเข้าสู่ Generation ที่ 9 แล้ว แต่แลนเซอร์ในประเทศไทยยังขายโฉมที่ 8 เพื่อขยายฐานลูกค้าของ Mitsubishi โดยให้แลนเซอร์โฉมนี้ และแลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ตีตลาดรถยนต์นั่ง ต่างเซกเมนต์กัน

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2544-2556

Generation ที่ 9 (พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2560)

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 9

โฉมที่ 9 นี้ ทาง บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำแลนเซอร์รุ่นที่ 9 นี้เข้ามาขายตั้งแต่ พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อให้แตกต่างจากรุ่นที่แล้ว คือ มีการเพิ่มเติมในส่วนของตัวอักษร EX (Exceed) ต่อจากคำว่า Lancer เนื่อจากต้องการแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจนโดย

  • Lancer โฉมเก่าทำหน้าที่รถยนต์ B-Segment ไว้ต่อกรกับ Toyota VIOSHonda CityNissan MarchMazda 2, Suzuki Swift, Ford Fiesta และอื่น ๆ
  • Lancer EX ทำหน้าที่รถยนต์ C-Segment ไว้ต่อกรกับ Toyota Corolla Altis, Honda Civic, Nissan Tiida, Mazda 3, Ford Focus, Cheverolet Cruze และอื่น ๆ

แม้ในประเทศไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์สจะนำ Lancer EX มาจำหน่ายในประเทศไทยช้ากว่าตลาดโลก เนื่องจากปัญหาทางการเงินของบริษัท แต่ก็ยังคงเป็นโฉมที่สมรรถนะเฉียบคมเหมือนโฉมก่อนๆ มีการใส่ระบบเกียร์ CVT 6 Speed พร้อมด้วย Sport Mode ในทุกรุ่นของ Lancer EX และเป็นเกียร์เดียวซึ่ง Lancer EX ของประเทศไทยมีขาย ตลาดส่งออกของแลนเซอร์ขยายวงกว้างขึ้นไปในทวีปอเมริกาเหนือ, ประเทศออสเตรเลีย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, ชิลี และแถบทวีปยุโรป

ทางด้านของ Lancer Evolution ก็ออกรุ่น Evolution X ออกมาเพื่อเป็นรถสปอร์ตแรลลี่อีกด้วย เช่นเดียวกับโฉมต่างๆ ก่อนหน้า

ในประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อรุ่นนี้ว่า มิตซูบิชิ กาแลนต์ ฟอร์ติส เนื่องจากกาแลนต์รุ่นจริงได้ยกเลิกการทำตลาดในญี่ปุ่นแล้ว กาแลนต์จึงเหลือการทำตลาดในแถบอเมริกาเหนือแทน (ในปี 2556 เลิกจำหน่ายแล้ว) ที่สำคัญคือ การใช้ชื่อแลนเซอร์ชื่อเดิมจึงไม่เหมาะกับการใช้ชื่อในการทำตลาดโฉมนี้ในญี่ปุ่นนัก เนื่องจากตลาดของแลนเซอร์โฉมนี้ในญี่ปุ่นได้อยู่กึ่งกลางระหว่างตลาด C-Segment และ D-Segment ส่วนประเทศไทยใช้ชื่อในการขายว่า Lancer EX เนื่องจากยังมีการขายรุ่นที่ 8 อยู่ เพราะต้องการแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจน แต่รุ่นนี้ไม่ประสบความสำเร็จในทุกตลาดที่นำเข้าไปจำหน่าย เนื่องจากหน้าตาที่ดุดันมาก สมรรถนะแนว GT ไม่เอาใจสุภาพสตรีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ C-Segment โดยเฉพาะในประเทศไทย และมีข่าวว่า Mitsubishi Lancer จะไม่มีรุ่นต่อไปที่พัฒนาโดย Mitsubishi Motors เอง เนื่องจากสถานะทางการเงินที่ในขณะนี้ต้องพึ่งพา Renault ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งมีข้อตกลงว่า Renault จะต้องผลิตรถยนต์นั่ง C-Segment ให้กับ Mitsubishi Motors เพื่อส่งไปขายในตลาดโลก และผลิตรถยนต์นั่ง D-Segment ให้กับ Mitsubishi Motors ส่งไปขายในตลาดอเมริกาเหนือ แต่ต้องผลิตจากโรงงาน Renault และอาจมีความเป็นไปได้ที่ Mitsubishi Lancer ที่เปลี่ยนตราจาก C-Segment ซึ่งก็คือรุ่น Megane ของ Renault จะไม่มาทำตลาดในไทย โดยรถยนต์นั่งที่ Mitsubishi Motors จะต้องพัฒนาต่อไปแน่นอนคือ Mirage และ Attrage และอาจจะมีรถยนต์สมรรถนะสูงสืบทอดตำนานของ Lancer Evolution ออกมาอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนั้นไม่มีแล้ว นั่นหมายความว่า Mitsubishi Motors จะต้องเน้นตลาด Eco Car ,Crossover ,SUV และรถกระบะอย่างจริงจัง โดยต้องยอมทิ้งตลาดรถยนต์ Sedan 4 ประตูไปทั้งหมด

รุ่นย่อยทั้งหมด (เดือนมีนาคม 2553)
  • เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร FFV พร้อมรองรับเชื่อเพลิง E85
    • LANCER EX GLX
    • LANCER EX GLS
    • LANCER EX GLS Limited.
  • เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
    • LANCER EX GT
สีตัวถัง
ให้เลือกทั้งหมด 7 สี ดังนี้

  • สีบรอนซ์เงิน (Cool Silver)
  • สีบรอนซ์ทอง (Platinum Beige)
  • สีเทาดำ (Eisen Grey Mica)
  • สีดำ (Pyreness Black)
  • สีแดง (Medium Red)
  • สีขาวมุก (Warm White Pearl) *สีพิเศษ เพิ่ม 10,000 บาท สำหรับ Lancer EX และ 7,000 บาท สำหรับ Lancer โฉมเก่า
  • สีน้ำตาลทอง (Quartz Brown) (เริ่มออกวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554)
รายละเอียดทางเทคนิค
รุ่น 1.8 FFV (เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร รองรับเชื้อเพลิง E85)
  • กว้างxยาวxสูง – 1,760×4,570×1,490 มม.
  • วงเลี้ยวแคบสุด – 5.0 ม.
  • เครื่องยนต์ – DOHC MIVEC 16 วาล์ว 1,800 ซีซี.
  • แรงบิด – 172 N-m/4,200
  • แรงม้า – 139 Ps/6,000
  • เกียร์ – Invects-III CVT 6 Speed พร้อม Sport Mode
  • พวงมาลัย – แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วย
  • ระบบกันสะเทือน – แม็คเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง(หน้า) และอิสระ มัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง(หลัง)
  • ดิสก์เบรก 4 ล้อ ยาง 205/60 R16
  • ได้รับรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ระดับประเทศไทย (Thailand Car of the Year 2010) ประเภทรถยนต์พลังงานทดแทนยอดเยี่ยม
รุ่น 2.0
  • กว้างxยาวxสูง – 1,760×4,570×1,490 มม.
  • วงเลี้ยวแคบสุด – 5.0 ม.
  • เครื่องยนต์ – DOHC MIVEC 16 วาล์ว 2,000 ซีซี.
  • แรงบิด – 198 N-m/4,250
  • แรงม้า – 154 Ps/6,000
  • เกียร์ – Invects-III CVT 6 Speed พร้อม Sport Mode และ Paddle Shift เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น 2.0 GT
  • พวงมาลัย – แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วย
  • ระบบกันสะเทือน – แม็คเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง(หน้า) และอิสระ มัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง(หลัง) และ เหล็กค้ำโช้ค เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น 2.0 GT
  • ดิสก์เบรก 4 ล้อ ยาง 215/45 R18
  • ได้รับรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ระดับประเทศไทย (Thailand Car of the Year 2010) ประเภทรถยนต์นั่งซีดานขนาดเล็ก ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2000 ซีซี

Generation ที่ 10 (พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน)

แหล่งข้อมูล