ต้นไผ่.. เป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะปลูกไผ่เป็นพืชเสริมรายได้ ถ้าเราต้องการจะปลูกไผ่เป็นพืชแซมเสริมรายได้ใน “สวนปาล์ม” จะทำได้หรือไม่..?
หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่า “ไผ่กับปาล์ม” ไม่น่าจะปลูกร่วมกันได้ เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ระดับรากที่ใช้หากินก็อยู่ในระดับหน้าดินเหมือนๆ กัน
แต่สำหรับผม…ถ้าเราเข้าใจเรื่องพืชหลัก…! พืชรอง…และ พืชเสริมรายได้ เราก็จะเข้าใจว่า…ทั้งปาล์มและไผ่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้การจัดการสวนอย่างถูกวิธี…!
ทั้งนี้ การจัดการสวนไผ่ในสวนปาล์มควรมีวิธีการจัดการอย่างถูกวิธี ต้องแยกก่อนว่าเราจะให้พืชตัวไหนเป็นพืชหลัก พืชตัวไหนเป็นพืชรอง หรือ แค่จะปลูกเพื่อเสริมรายได้ เพื่อที่ไผ่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตของต้นปาล์ม
วิธีการปลูกและการจัดการสวนไผ่ในสวนปาล์ม
1. การเลือกพันธุ์ไผ่
พันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนปาล์ม คือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด ตงลืมแล้ง กิมซุง ตงศรีปราจีน ซางหม่น ฟ้าหม่น หม่าจู ปักกิ่ง เก้าดาว และ อื่นๆ เนื่องจากไผ่เหล่านี้มีลำต้นสูง เวลาที่ปาล์มโต 20 ปีไปแล้ว ไผ่จะสามารถพุ่งขึ้นไปรับแสงได้ แต่สวนปาล์มของผมเลือกปลูกไผ่ตงลืมแล้ง (กิมซุง) เพราะดูแลง่าย และ สามารถต่อยอดอาชีพสร้างรายได้อีกหลายทาง
2. การเตรียมต้นพันธุ์
เป็นที่รู้กันว่าการปลูกไผ่เป็นพืชแซม เรื่องการรับแสงจะด้อยกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ไผ่เติบโตได้เร็ว ควรเตรียมต้นพันธุ์ให้สมบูรณ์เต็มที่ ควรเป็นต้นพันธุ์ที่อนุบาลเอาไว้อย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้ไผ่เตรียมแตกหน่อในถุง หลังปลูกไผ่จะตั้งลำได้เร็ว
3. การดูความเหมาะสมของอายุและขนาดต้นปาล์ม
โดยส่วนตัว เราสามารถปลูกไผ่แซมช่วงปาล์มอายุกี่ปีก็ได้ แต่หัวใจสำคัญ คือ การจัดการแสง โดยการจัดการขนาด และ ความสูงของกอไผ่ ให้เหมาะกับขนาดต้นปาล์ม
– ถ้าปลูกตอนต้นปาล์มเล็ก ให้คุมความสูงของลำไผ่ไม่เกิน 3 เมตร เว้นลำไม่เกิน 3 ลำ
– ถ้าปาล์มโตแล้ว (ปาล์ม 8 ปีขึ้นไป) ให้คุมความสูงลำไผ่ 4-5 เมตร เว้นลำกอละ 4-5 ลำ ที่สวนผมปลูกไผ่เป็นพืชแซมตอนที่ปาล์มมีอายุ 8 ปี
4. ระยะห่างระหว่างกอไผ่
การเว้นระยะกอไผ่ให้คำนึงถึงระยะต้นปาล์มเป็นหลัก หากปาล์ม 9×9 เมตร สามารถปลูกไผ่ระยะห่าง 3-4 เมตร ถ้าผู้ปลูกวางแผนจะปลูกพืชอื่นแซมเพิ่มอีก เช่น ตะเคียน พยูง มะฮอกกานี ให้ปลูกไผ่ระยะ 6 เมตร เพื่อต่อไปจะได้ปลูกพืชแซมระหว่างไผ่เพิ่มเติมได้อีก
จำนวนต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกต่อไร่ ผู้ปลูกต้องประเมินด้วยตัวเอง ว่าท่านต้องการปลูกห่างเท่าไหร่ หากสวนปาล์มแปลงใหญ่จะปลูกให้ห่าง 9 เมตร สลับฟันปลากับต้นปาล์มก็ได้
5. การเตรียมหลุมปลูก
ให้ขุดหลุมขนาดประมาณ 1×1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ 1 ขันอาบน้ำ
6. การปลูกให้ใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงเท่านั้น
อายุกล้าอย่างน้อยควรไม่น้อยกว่า 60 วัน โดยให้ปลูกตรงๆ หันทรงพุ่มของต้นพันธุ์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงช่วงเช้า
ฤดูกาลที่เหมาะสมปลูกไผ่ คือ ปลายฤดูฝน และ หน้าหนาว เพราะไผ่จะพักตัวในช่วงแรกเพื่อสะสมสารอาหาร เมื่อเข้าต้นฤดูฝนปีถัดไป ไผ่จะตั้งกอได้เร็ว ไม่ต้องกลัวเรื่องติดแล้ง เพราะการปลูกไผ่เป็นพืชแซมไผ่จะไม่ได้รับแดดโดยตรง ต้นพันธุ์จึงผ่านแล้งได้
หากผู้ปลูกไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพราะไผ่จะได้แข็งแรงก่อนเข้าหน้าแล้ง
7. การดูแล
ช่วงไผ่ยังเล็กให้ดูแลเรื่องวัชพืชรอบโคนต้น และ ควรใส่ปุ๋ยบำรุงบ้างตามสมควร (ช่วงแรกเน้นสูตรเสมอ 15-15-15) มีขี้ไก่ก็สามารถใส่ได้เรื่อยๆ
8. การจัดการกอไผ่
เมื่อไผ่เริ่มตั้งลำให้เว้นลำที่สมบูรณ์ จำนวนลำไผ่ให้พิจารณาจากขนาดต้นปาล์มเป็นหลัก ถ้าปาล์มอายุเกิน 8 ปี หรือมีทรงต้นสูงเกิน 2 เมตร สามารถเว้นลำ 4 ลำ สางแต่งกอให้โปร่ง คุมความสูงของไผ่ให้อยู่ต่ำกว่าทรงพุ่มต้นปาล์มเสมอ
9. การให้หน่อ
การปลูกไผ่ในสวนปาล์ม ไผ่จะเริ่มให้หน่อประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นปาล์ม (ปาล์มโตแสงน้อยไผ่ก็จะโตช้า แต่เมื่อไผ่โตแล้ว ไผ่ก็สามารถให้หน่อได้ตามปกติ)
10. อัตราการให้หน่อ
ขึ้นอยู่กับการดูแลเป็นหลัก หากดูแลดีหน่อมีขนาด 1.5-3 กิโลกรัมต่อหน่อ ผู้ปลูกที่มีระบบน้ำสามารถทำไผ่นอกฤดู เพื่อจำหน่ายได้ในราคาสูง ด้วยการสางแต่งกอให้โปร่ง ช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน และ ใส่ปุ๋ย ใส่ขี้ไก่ ให้น้ำสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ไผ่แตกหน่อช่วงหน้าแล้ง
11. ราคาการจำหน่าย
ช่วงนอกฤดูราคาหน่อจะอยู่ที่ 30-50 บาท ช่วงที่ไผ่ป่าออกช่วงฤดูฝน ราคาจะอยู่ที่ 10-25 บาท ราคาขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาตลาด และ การจับกลุ่มกันของผู้ปลูกไผ่เป็นหลัก
12. ประโยชน์จากไผ่
ไผ่สามารถจำหน่ายได้ทุกส่วน ตั้งแต่หน่อไม้ , ลำอ่อนที่แตกกาบสามารถนำมาทำกระบอกข้าวหลาม , ลำแก่อายุ 3 ปี สามารถส่งร้านเฟอร์นิเจอร์ , สามารถนำมาเผ่าทำถ่านไบโอชาร์ , กิ่งไผ่สามารถนำมาทำกิ่งพันธุ์จำหน่ายเป็นรายได้เสริม , น้ำที่ได้จากต้นไผ่ดีต่อสุขภาพช่วยสลายนิ่ว , สร้างความร่มรื่นสามารถต่อยอดเป็นที่เที่ยวเชิงเกษตร , รากไผ่ที่สานกันแน่นช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน , ใบไผ่ที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี
13. การทำไผ่ให้ยั่งยืน
ให้เน้นการทำแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ เน้นการจำหน่ายตลาดในชุมชมเป็นหลัก ที่สำคัญควรจับกลุ่มกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรองราคา และ ควรหมั่นศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดอาชีพ
14. ประโยชน์จากการเกื้อกูล
ไผ่เป็นพืชที่ซับน้ำได้ดี เพราะฉะนั้นการปลูกไผ่ในสวนปาล์มจะเป็นเสมือนการกระจายถังน้ำไว้ทั่วทั้งสวน เพื่อให้ต้นปาล์มได้แบ่งน้ำไปใช้ในช่วงหน้าแล้ง
15. การจัดการเรื่องปุ๋ย
ไผ่และปาล์มเป็นพืชที่หากินผิวดิน มีระบบรากใกล้เคียงกัน แต่ทว่าดูดกินธาตุอาหารหลักคนละตัวกัน ไผ่เน้นไนโตรเจน ส่วนปาล์มเน้นโพเทสเซียม ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยู่ร่วมกันได้
ไผ่เมื่อโตแล้วไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยก็ได้ ขอเพียงมีขี้ไก่ใส่ให้เขาสม่ำเสมอ เขาก็อยู่ได้ และ สามารถให้ผลผลิตต่อเนื่อง
ขี้ไก่ เป็นสิ่งที่ปาล์มโปรดปราน เพราะฉะนั้นการใส่ขี้ไก่ให้กอไผ่ ปาล์มก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วยในตัว
16. การจัดการกอไผ่
หากต้องการเลิกอาชีพเสริมการทำไผ่ในสวนปาล์ม เราสามารถติดต่อกับร้านรับซื้อต้นไม้ขุดล้อม ให้เขามาเหมาขุดแบบยกกอ โดยราคากอขึ้นอยู่กับขนาดและฟอร์มกอ
รู้แบบนี้แล้วก็ปลูกไผ่กันเถอะครับ อย่าได้คิดไปเองว่าไผ่ไม่สามารถปลูกแซมในสวนปาล์ม เพราะนอกจากผมที่ปลูกแล้วได้ผลดี ยังมีเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่อีกหลายราย ที่ปลูกไผ่เสริมรายได้ในสวนปาล์มแล้วได้ผลดี
ผมไม่ใช่คนแรกที่ปลูกไผ่ในสวนปาล์ม แต่ผมทดลองด้วยตัวเองแล้วว่า…เขาอยู่ด้วยกันได้อย่างเกื้อกูล…ณ วันนี้ ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อปาล์มในทางลบ
#ข้อควรระวัง!
ไผ่เป็นพืชที่โตไวมาก การปลูกไผ่ในสวนปาล์มจะทำแบบละเลยไม่ได้!…ไม่อย่างนั้นไผ่จะพุ่งยอดสูงขึ้นไปบังแสงต้นปาล์ม ส่งผลกระทบกับการให้ผลผลิตของต้นปาล์มได้ เพราะฉะนั้นการคอยควบคุมความสูงของลำไผ่จึงเป็นหัวใจของคนที่จะปลูกไผ่เป็นพืชแซมในสวนปาล์ม
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะปลูกไผ่เป็นพืชแซมเสริมรายได้ในสวนปาล์ม จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจปลูกไผ่ในสวนปาล์ม ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระตามมาภายหลังได้
พี่ๆ เพื่อนๆ ที่สนใจจะทำ…สวนไผ่เสริมรายได้ในสวนปาล์มให้ได้ผลและเกิดรายได้จริง! สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ที่สวนไผ่อาบู ผมยินดีถ่ายทอดความรู้แบบหมดเปลือกครับผม
สวนไผ่อาบู ตั้งอยู่ใน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดย บุญชู สิริมุสิกะ ชายหนุ่มที่ทิ้งอาชีพวิศวกรในเมืองหลวง กลับสู่บ้านเกิด ที่มีรากฐานอาชีพจากสวนยางและสวนปาล์ม แน่นอนว่าเป้าหมายของเขาไม่ใช่อยู่ที่เงินทอง หากแต่แสวงหาความยั่งยืนและความสุข
ปัจจุบัน บุญชู คือผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกไผ่ในสวนยางและสวนปาล์ม มีรายได้หลายทาง ซึ่งมากกว่าเงินเดือนวิศวกร และยังกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการปลูกไผ่ที่มีชื่อเสียงของ จ.พังงา มีคนเข้าไปศึกษาดูงานไม่ขาดสาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวนไผ่ อาบู.
http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php/topic,98593.0.html