โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

ประโยชน์ทางตัวยาของ..ใบเฟิร์น และผักกูด..ของดีใกล้ตัว +1

https://goo.gl/Zg4MUx 
ประโยชน์ : เฟิร์นก้านดำ มีสรรพคุณใช้ทำยารักษา อาการไอ ไอเนื่องจากหืด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ดีซ่าน นิ่วอุดตันในไต
ชาวเปรูแถบลุ่มน้ำอเมซอนใช้เฟิร์นก้านดำทำยา บรรเทาอาการไอ ช่วยละลายเสมหะ แก้จุกแน่นหน้าอก แก้ขัดเบา ลดไข้ รูมาติสซัม
ลดกรดในกระเพาะ 
ผักกูด สรรพคุณและประโยชน์ของผักกูด 
ผักกูดหรือกูดกิน ความจริงแล้วผักกูดไม่ได้เป็นพืชผัก แต่เป็นพืชที่เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นเหง้าแบบตั้งตรง ต้นเมื่อมีอายุน้อยมักจะเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เมื่ออายุมากขึ้นจะพบว่าเป็นใบประกอบแบบสองชั้น โดยส่วนที่นำมาปรุงเป็นอาหารก็คือส่วนของ ฟรอนด์ (Frond) หรือก้านใบใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากลำต้น มีส่วนปลายม้วนงอ และส่วนปลายนี้แหละจะค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นใบอ่อนและใบแก่ตามลำดับ แต่จะนิยมรับประทานฟรอนด์อ่อน ๆ ซะมากกว่า
นอกจากนี้ผักกูดยังมีอยู่ด้วยกันอีกหลายชนิด และเกือบทุกชนิดสามารถนำมารับประทานได้ แต่บางชนิดยอดใบจะมีรสขมมาก บางชนิดมีขนสีน้ำตาลปกคลุมตามต้น และแต่ละชนิดก็มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกันออกไปด้วย
ลักษณะของผักกูด
.
.
  • ต้นผักกูด จัดเป็นเฟิร์นขนาดใหญ่ที่มีเหง้าตั้งตรง และมีความสูงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป เหง้าปกคลุมไปด้วยใบเกล็ด เกล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกล็ดมีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ขอบใบเกล็ดหยักเป็นซี่ โดยเฟิร์นชนิดนี้มักจะขึ้นหนาแน่นตามชายป่าที่มีแดดส่องถึง ในบริเวณที่ลุ่มชุ่มน้ำ ตามริมลำธาร บริเวณต้นน้ำ หนองบึง ชายคลอง ในที่ที่มีน้ำขังแฉะและมีอากาศเย็น รวมไปถึงในพื้นที่เปิดโล่ง หรือในที่ที่มีร่มเงาบ้าง และจะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณที่ชื้นแฉะ มีความชื้นสูง เติบโตในช่วงฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้า ใช้สปอร์ หรือไหล มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนทั่วไปของเอเชีย ไล่ตั้งแต่ภาคกลางของประเทศจีน ภาคใต้ของญี่ปุ่น ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ส่วนในประเทศไทยบ้านเราจะพบผักกูดได้ทั่วไปแทบทุกภูมิภาคในที่มีสภาพดินไม่แห้งแล้ง[1],[2]
  • ใบผักกูด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น มีความยาวได้มากกว่า 1 เมตรและกว้างได้ถึง 50 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอ่อน แม้แก่จะมีสีเขียวเข้ม มีใบย่อย 1-2 คู่ล่างจะเล็กกว่าใบย่อยที่อยู่ช่วงกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ได้ถึง 25 เซนติเมตร ช่วงขนาดสอบเล็กลงทันทีเป็นหลายแหลม ส่วนใบย่อยชั้นกลางจะมีใบที่มีขนาดใหญ่กว่า มีก้านสั้นหรือกึ่งไม่มีก้าน โคนใบมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจหรือเป็นติ่งหู ปลายสอบแหลมมีขนาด 2.5 เซนติเมตร ขอบหยัก ลึกประมาณ 1 ใน 4 ของระยะถึงเส้นกลางใบ ปลายเป็นรูปมน ขอบเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ มีเส้นใบแตกแขนงแบบขนนก มีปลายเส้นถึง 10 คู่ กลุ่มสปอร์จะอยู่ใกล้และยาวตลอดความยาวของเส้นใบส่วนปลาย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 70 เซนติเมตร[1],[4]
 
คุณค่าทางโภชนาการของผักกูด ต่อ 100 กรัม
สมุนไพรผักกูด ในส่วนที่รับประทานได้ จะให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 36.3 มิลลิกรัม ธาตุฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 3 ค่อนข้างสูง[1]

สรรพคุณของผักกูด

  1. ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ใบ)
  2. ผักกูดอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและเบตาแคโรทีน การรับประทานผักกูดร่วมกับเนื้อสัตว์จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และยังช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย (ใบ)
  3. ใบผักกูดนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
  4. ผักกูดเป็นผักที่มีคุณสมบัติช่วยดับร้อน ทำให้ร่างกายปรับสภาพอุณหภูมิให้เข้ากับฤดูได้
  5. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด (ใบ)
  6. ช่วยบำรุงโลหิต เนื่องจากผักกูดเป็นผักที่มีธาตุเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับ 1 (ใบ
  7. ช่วยแก้โรคโลหิตจาง (ใบ)
  8. ช่วยบำรุงสายตา (ใบ)
  9. ช่วยลดความดันโลหิตสูง (ใบ)
  10. ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (ใบ)
  11. ผักกูดเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูงมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างดี (ใบ)
  12. สรรพคุณผักกูด ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ)
  13. ผักกูด สรรพคุณช่วยแก้พิษอักเสบ (ใบ)

ประโยชน์ของผักกูด

  1. ผักกูด เป็นผักที่มีรสจืดอมหวานและกรอบ ยอดอ่อนและใบอ่อนนิยมนำมาบริโภค โดยนำมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย ด้วยการนำมายำ ผัด ทำเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงแคร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ ต้มกะทิ ฯลฯ ส่วนเมนูผักกูดก็เช่น ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงจืดผักกูดหมูสับ ไข่เจียวผักกูด ผัดกับไข่หรือแหนม นำมาแกงกับปลาน้ำจืด ทำเป็นแกงกะทิกับปลาย่าง หรือนำมาราดด้วยน้ำกะทิรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือแกงรสจืด ส่วนชาวอีสานจะรับประทานยอดสดร่วมกับลาบ ก้อย ยำ ส้มตำ ปลาป่น หรือจะนำไปดัดแปลงเป็นเมนูอื่น ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้เป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกตาแดง น้ำพริกถั่ว หรือน้ำพริกต่าง ๆ แต่จะไม่นิยมนำมารับประทานแบบสด ๆ เพราะจะมียางเป็นเมือกอยู่ที่ก้าน โดยในช่วงหน้าแล้งผักกูดจะมีรสชาติอร่อยกว่าฤดูอื่น ๆ
  2. ประโยชน์ผักกูด ในปัจจุบันมีการเก็บผักกูดไว้ขายส่งไปญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นจำนำผักกูดไปดองกับเกลือไว้รับประทาน หรือที่เรียกว่า “วาราบิ”
  3. ต้นผักกูด สามารถใช้เป็นดัชนีเพื่อชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมได้ ถ้าหากบริเวณไหนมีอากาศไม่ดี หรือดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่เจริญหรือแตกต้นในบริเวณนั้น เพราะผักกูดจะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ดินสมบูรณ์และไม่มีสารเคมีเจือปน
ข้อควรระวัง ! : ไม่ควรรับประทานผักกูดแบบดิบ ๆ หรือแบบสด ๆ เนื่องจากผักกูดมีสารออกซาเลตในปริมาณที่สูง อาจทำให้ไตอักเสบและทำให้เป็นนิ่วได้ จึงควรนำไปต้มหรือปรุงให้สุกก่อนการนำมารับประทาน
เอกสารอ้างอิง
  1. สื่อเกษตรครบวงจร กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agrimedia.agritech.doae.go.th.  [8 พ.ย. 2013].
  2. สมุนไพรใกล้ตัว เล่มที่ 13 ว่าด้วยสมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส.  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  (สมพร หิรัญรามเดช).
  3. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  4. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “ผักกูดรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักกันดีไหม”.  (ประทุมพร ยิ่งธงชัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [8 พ.ย. 2013].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 355 คอลัมน์: เข้าครัว.  “ยำผักกูด”.  (ริญ เจริญศิริ, ศศพินทุ์ ดิษนิล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [8 พ.ย. 2013].
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ผักกูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [8 พ.ย. 2013].
  7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [8 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Saeigimon, Ahmad Fuad Morad, Polylepis, Starr Environmental)

ที่มา http://www.wattano.ac.th/wattano/web_saunpluak/My%20Hip/166.html
http://kaewpanya.rmutl.ac.th/kb/HR-Blog/?u=Rainbow&act=postdetail&p=238