1. Triclosan
เราจะพบไตรโคลซานได้บ่อยในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ครีมอาบน้ำ สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาสีฟันที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเหงือกอักเสบ หรือในเครื่องสำอางที่อ้างสรรพคุณช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย.. ทว่าหากเราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคลซานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้หลายด้าน
โดยเฉพาะหากได้รับสารนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองที่พบว่า สารไตรโคลซานก่อให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ ซ้ำยังมีผลกับการทำงานของหัวใจ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคลซานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอีกด้วย ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาออกประกาศห้ามผสมไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำและโฟมล้างมือแล้ว
2. Methylisothiazolinone (MIT)
เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน เป็นสารกันเสียชนิดเดียวกับที่ใช้ในสีทาบ้าน แต่ก็พบได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ประจำวันอย่างครีมอาบน้ำ แชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก รวมทั้งทิชชูเปียก โดยความอันตรายของสารนี้คืออาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น บางคนใช้แล้วแพ้ มีอาการผิวอักเสบ เกิดผดผื่นแดง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีผิวบอบบางอย่างเด็กเล็ก ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงออกกฎควบคุม ให้ใช้ MIT ได้ภายใต้ความเข้มข้นที่กำหนด และให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ชนิดที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น
3. Sodium Lauryl Sulfate (SLS)
สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงของผิวน้ำ จึงทำให้สบู่เกิดฟอง เราจะพบสารเคมีชนิดนี้ได้ในเครื่องสำอางหลายชนิด ทั้งสบู่ แชมพู ครีมล้างหน้า หรือแม้กระทั่งยาสีฟันเองก็มี ซึ่งงานวิจัยก็พบว่า ผลิตภัณฑ์ใด ๆ มีส่วนผสมของ SLS ในปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น เกิดผดผื่นคัน มีอาการผิวแห้ง และหากฟอกผลิตภัณฑ์ไว้นาน ๆ ไม่รีบล้างออก อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่เยื่อบุตา (ในกรณีใช้ทำความสะอาดผิวหน้า) และยังมีผลการทดลองในสัตว์ที่พบว่า สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟตในปริมาณที่เข้มข้นเกินไป ยังเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวอีกด้วย
4. Parabens
สารพาราเบนจะทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย จึงมีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางเสียง่าย พบได้บ่อยในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาบน้ำ อย่างครีมอาบน้ำ แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมโกนหนวด น้ำยายืดผม ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้น ๆ ชื่อสารเคมีชนิดนี้กันอยู่บ้าง เพราะเป็นกลุ่มสารกันเสียที่เคยถูกแฉถึงอันตรายต่อสุขภาพมาแล้วเนื่องจากเคยตรวจพบสารพาราเบนในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
แม้จะยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ว่าสารพาราเบนเป็นสารก่อมะเร็งเต้านมได้จริงหรือไม่ แต่ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ประกาศห้ามใช้สารพาราเบนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว
ซึ่งปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารจากธรรมชาติมาทำหน้าที่สารกันเสียแทนโดยไม่มีส่วนผสมของพาราเบน หรือที่ระบุว่า Paraben-free แล้ว
เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนในครอบครัว เราก็ควรอ่านฉลากก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง ที่สำคัญคือต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปราศจาก 4 สารตกค้างที่กล่าวไป รวมไปถึงต้องดูวัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ด้วย.
ขอบคุณ 1. ความปลอดภัยของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง ศูนย์วิทยบริการ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15755&id_L3=3113
2. Parabens as urinary biomarkers of exposure in humans: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1764178/
3. สารเคมีในชีวิตประจำวัน สารกันเสีย: http://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d003.htm
4. Parabens : https://www.cdc.gov/biomonitoring/parabens_factsheet.html
5. Safety of ingradients used in cosmetics. J Am Acad Dermatol 2005 Jan;52(1):125-32.
6. Exposure to chemicals in Cosmetics : http://www.breastcancer.org/risk/factors /cosmetics
7. 5 Things to how about triclosan https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm205999.htm
8. Antibacterial soap? You can skip it. Use palin soap and water. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm
9. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559