กล้อง-เที่ยว » ข้อคิดดีๆสำหรับคนที่กำลังเดิน..จากยุทธนา ท้าวนอก

ข้อคิดดีๆสำหรับคนที่กำลังเดิน..จากยุทธนา ท้าวนอก

11 มิถุนายน 2017
2653   0

[i]ยุทธนา ท้าวนอก ทำดีเพื่อพ่อ
January 16, 2016[/i]

16 ม.ค. 2559 “ขอเล่าประสบการณ์ 16 เดือนเพื่อตอบแทนท่านอาจารย์สุระที่ท่านเดินทางมาสอนผมถึงที่โคราชวันนี้” สำหรับคนรอโหลดแรกและคนที่ยังกินไข่ นี่อาจเป็นเรื่องดับฝันให้ต้องตกใจตื่น หรือเป็นเรื่องของการทำฝันให้เป็นจริง…..
ผมขอเล่าประสบการณ์ 16 เดือนกว่าๆกับการหลงมาเป็นช่างภาพสต๊อค(มือสมัครเล่น ) เผื่อจะเป็นการช่วยดับไฟให้ใครหลายๆคน หรือเป็นการเทน้ำมันใส่ไฟให้ลุกโชติช่วง
เวลาที่เราเห็นภาพคนอื่นขายได้ มันอาจทำให้หลายๆคน(มือใหม่ไฟแรง)ตาลุกโชน โห…. สุดยอดขายได้ขนาดนี้เลยเหรอ แต่สำหรับมือเก๋า ไม่กินไข่ เขาถือว่า”บ้านๆ ”
ผมเริ่มเข้าวงการนี้เมื่อกลางปี 2557 สอบ-ตรวจ-ตกๆๆ อยู่ประมาณ 4 รอบ (ผมเข้าวงการมาในยุคสอบ 10 ผ่าน 7) จนมาผ่านและเริ่มส่งขายเมื่อ เดือนตุลาคม 2557 (ปีก่อน) การส่งขายของผมนั้นค่อนข้างแปลกประหลาด ผมส่งแค่ 2 เดือนกว่าๆ ผ่านจำนวนรวมกันประมาณ 800 กว่ารูปแล้วก็หยุดส่ง ไม่ส่งอีกเลย…. เพื่อทดสอบว่าภาพที่ผ่านไปแล้วมันทำเงินได้จริงไหม ?
ผ่านมาสิบกว่าเดือน ถึงตุลาคม 2558 ผมขายได้ 60 USD (ประมาณ 1,800 บาทในตอนนั้น) มันช่างน้อยนิดและสวนทางกับจำนวน 800 กว่าภาพที่มีอยู่  ในขณะที่บางท่านมีไม่ถึง 100 รูปกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า  มันเกิดอะไรขึ้น ???
ประสบการณ์นี้ขอเล่าให้มือใหม่ฟังเฉยๆนะครับ เพื่อเป็นแนวทางให้คนที่สอบๆตกๆ ผ่านๆแต่ขายแบบ ยอดไม่ไหลดังความต้องการ หรือคนที่หลงมาแล้วคิดว่า”ถ่ายรูปขายง่ายนิดเดียว”ได้เข้าใจ….

1. ปริมาณ คุณภาพ ความต้องการ (รูปผ่านเยอะไม่ใช่ว่าจะขายได้มาก) ข้อนี้คือบทสรุปของตัวผมเองเลย เราส่งรูปมาเพื่อสู้กับ 2 ด่าน
– ด่านแรกคือขุนอินที่เราไม่เคยเห็นหน้า (สำหรับบางคน ถ้ารู้จักบ้านขุนอิน อาจเอาหินปาหลังคาบ้านหลายรอบแล้ว) ใครก็ไม่รู้(คนหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ) ตรวจๆตกๆ ส่งซ้ำ(แก้นิดเดียว)ดันผ่านก็มี ถ่ายดีๆสวยๆแต่งแทบตายดันไม่ให้ผ่าน ยกกดถ่าย ไม่ต้องแต่ง ผ่านเฉยเลย
– ด่านสองคือลูกค้า ทุกคนในนี้คงไม่ได้อยากถ่ายเอาปริมาณรูปในพอร์ต แต่คงตั้งใจถ่ายเพื่อมาขายใช่ไหมครับ มุมมองในการถ่ายรูปอาจต้องเปลี่ยนไปแล้ว ที่นี่ไม่ใช่การประกวดภาพสวยงาม(สำหรับบางภาพ) แต่กลายเป็นการสร้างสรรค์ภาพเพื่อการนำไปใช้ต่อ ไม่ได้ถ่ายให้กด like แต่ถ่ายให้คน like และยอมเสียเงิน
มือใหม่ที่ไม่เข้าใจแนวทางมักคิดว่า มีรูปในพอร์ตเยอะๆ จะช่วยให้ขายได้เยอะตามไปด้วย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ การมีรูปเยอะไม่ใช่ความสำเร็จในตัวรูป แต่การขายได้คือความสำเร็จในรูปนั้น ไม่ใช่แค่การตรวจผ่านและรอขายในพอร์ต

2. สอบผ่านเป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมชาติ มั่นใจว่าหลายๆคนกำลังท้อกับการ ส่งสอบตก ส่งสอบตก ส่งสอบตก บางคนก็อาจจะสอบผ่านแล้ว แต่ก็เริ่มเครียดกับอาการ”ส่งสอบตก”อีกครั้ง  ทุกๆการตกมีเหตุผล ถ้าเราไม่ยอมฟังคนตรวจก็คงต้องเดินออกจากห้องนี้ไป ที่นี่ใช้คำว่าสอบ สอบตกก็ให้สอบใหม่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้าเราสนใจใส่ใจกับงาน เราก็จะพัฒนาหลายอย่างในตัวเราได้

3. ขี่ช้างจับตั๊กแตน ที่กังวลมากเลยคือ มือใหม่ไฟแรง(น่าจะเป็นน้องๆที่ยังไม่ทำงาน) ได้ยินว่าถ่ายรูปขาย มีคนขายได้หลักหมื่นหลักแสนต่อเดือน แล้วทุ่มเทเงิน(ของพ่อแม่)ไปกับสุดยอดกล้องอย่างดีและเลนส์เทพ ในขณะที่ตัวเองไม่มีความรู้และทักษะในเรื่องการถ่ายภาพเลย  เข้าใจแค่ว่า คมชัดหลังละลายคือสุดยอดความงาม ถ้าทุ่มทุนแต่ไม่มีความรู้จริง ไม่มีความตั้งใจจริง มันจะเริ่มเป็นการขี่ช้าง(หลายหมื่นบาท)มาไล่จับตั๊กแตนตัวละ 9 บาท (0.25 USD) ไปทันที ถ้าจะเริ่มให้ทำจากเล็กไปใหญ่ ถ่ายแหลกอาจจะขายไม่ได้เหมือนผม แต่ถ่ายให้มันตรงความต้องการและมีคุณภาพทุกภาพ มันจึงจะขายได้ต่อเนื่องและมั่นคง

4. ภาพไหนขายได้ ??? ไม่ต้องคิดมาก ไปไล่ดูในหลายๆเว็บจะมีรายการภาพ Popular ขายดี และบางเว็บมีแม้กระทั่ง ภาพที่เพิ่งขายไป

5. การแต่งภาพ มีมือกล้องบางคนเท่านั้นแต่ใช้ภาพหลังกล้อง(กล้องเขาตัวละหลายหมื่นถึงแสน) แต่สำหรับผมและเกือบทุกคน ต้องแต่งภาพ การแต่งนั้น แนะนำว่าอย่าให้เว่อร์  ให้มันชัดในที่ๆควรชัด คมในที่ๆควรคม ที่สำคัญจัดองค์ประกอบให้มันนำเสนอเรื่องราวๆได้ตรงๆกับชื่อภาพ เพราะคนขายเขาซื้อเรื่องราวจากในภาพครับ ไม่ได้ซื้อภาพวิจิตรอลังการสีสดๆเสมอไป และหลายๆลูกค้าเขาก็ซื้อไปแต่งต่อของเขาอีกทีครับ

6. ภาพชุดมีโอกาสถูกเหมา ผมมีภาพชุด 2 ชุด คือภาพหินทรายข้างกำแพงวัด และภาพเทพเจ้าฮินดู ผมพบว่าหลายๆครั้งถ้าเขาซื้อ เขาจะเหมารวมไปด้วยกันเสมอๆครับ

7. วินัยในการส่ง ถ้าเรามองออกว่าภาพสต๊อคคืออะไร “ถ่ายไปขาย”แปลว่าอะไร การมีวินัยในการส่งภาพสำหรับมือบ้านๆอย่างผมอาจพอช่วยให้ภาพบ้านๆหลุดเข้าไปใน New และมีคนเลือกซื้อไปได้บ้าง เหมือนกับเราไม่ใช่นักร้องดัง แต่ออกเดินสายทุกคืนคงพอได้ทิปติดไม้ติดมือมาบ้าง ถึงจะน้อยกว่ามืออาชีพที่จัดคอนเสริตอาทิตย์ละครั้ง

8. ทุกๆคนเข้าใจเหมือนกันว่า ถ่ายคนขายดี แต่ Model Release มันคือสิ่งที่หลายๆคนขยาด เพราะมันคือภาษาอังกฤษ และมันต้องขอนางแบบนายแบบให้เซ็นต์เอกสาร  จริงๆแล้ว MR มันไม่ใช่อะไรยุ่งยากครับกรอกๆพิมพ์ สแกนแนบไป ลองสักคนก็จะรู้ครับ ผมเองก็ลองส่งลูกสาวคนเล็กโกอินเตอร์ไปแล้ว  สำหรับการถ่ายคนที่ไม่สนิทแต่ไปติดหน้าตามันก็มีแอพบน iPad ที่เราสามารถกรอกๆๆแล้วขอให้เขาเซ็นต์บนจอแล้วได้ MR ออกมาพร้อมส่งได้เลย แต่เขาจะยอมไหมแค่นั้นแหละ

9. Editorial ทางเลือกของการติดหน้าคน ผมมีภาพติดหน้าคนเยอะมาก ตัดใจส่งแบบภาพข่าวไปเลย มันก็ขายได้นะครับ ดีกว่าไม่ยอมส่งภาพนั้นๆเพราะไม่มี MR

10. สากล VS ไทย ถ่ายอะไรดี ? เราอยู่เมืองไทยก็ถ่ายในไทยนี่แหละครับ หาความเป็นไทยที่สากลคุ้นเคย มันจึงจะขายได้ทั่วโลกครับ แต่บางที่ก็มีโอกาสถ่ายสิ่งที่มีตลาดสากล เช่น มังกรตามศาลเจ้า นั่นคือความเป็นสากลในรูปแบบมังกรจีน (มันยังมีมังกรฝรั่งอีกพวกหนึ่ง) ส่วนวัตถุรอบตัวเราหลายๆอย่างมันก็สากลอยู่แล้ว จับจักรยานมามุดบังโคลนรถตัวเองแล้วตั้งชื่อภาพว่า “Car accident” มันก็ยังขายได้เลย

11. โลกนี้ยังมี VDO และ Vector เป็นทางเลือก น่าแปลกที่หลายๆคนถ่ายแต่ภาพนิ่ง ในขณะที่วิดีโอความยาวแค่ 10 วินาที ทำเงินได้มากกว่าตั้งเยอะ ??? หรือใครเก่ง Vector ก็ยังขีดๆเขียนๆส่งไปได้ แม้แต่มือ Photoshop ขั้นเทพ เขายังเอากระดานแทบเลตมาวาดๆเขียนๆเป็นผลงานส่งขายได้เงินมากกว่าคนถือกล้องก็มีครับ

12. ภาษาอังกฤษคือกำไรจากการส่งภาพ ผมได้คำศัพท์ใหม่ๆเยอะมากในการส่งรูปขาย
ความสุขที่แท้จริงจากการถ่ายภาพคืออะไร คือเราชอบภาพที่เราถ่าย ? หรือเราชอบที่ขุนอินให้ผ่านและมีคนซื้อมัน(แปลว่าเราได้เงิน) ?
ตอนนี้มีประมาณ 72 ล้านภาพที่ Shutterstock รอขาย จะถอดใจไม่ไปแล้ว หรือขอเสี่ยงเป็น 1 ใน 72 ล้านภาพ
น่าดีใจที่วงการนี้ไม่มีเส้นสาย ไม่มีทางยัดเงินให้ขุนอิน ไม่มีทางขอฮั๊วะกับคนซื้อ อาจมีทางลัดในการทำให้ขายได้ (จ้างคนที่เก่งกว่าถ่ายให้ แต่งให้ผ่าน) แต่มันจะคุ้มไหม ?
อ่านมาถึงตรงนี้คนสอบไม่ผ่านจะกลับไปทำมาหากินดีกว่า หรือใจสู้ลุยต่อ ก็แล้วแต่ท่าน  กำลังใจมันสร้างด้วยใจเรานี่แหละครับ
น่าแปลกใจที่ตลาดของการขายรูปนี้ จริงๆแล้วทุกคนคือคู่แข่งกัน แต่มันดันกลายเป็นว่านี่คือตลาดที่ผู้ค้าเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือกันแบบสุดๆ
สิ่งที่ผมบอกมาทั้งหมดจะเป็นน้ำถังใหญ่ๆไปดับไฟแห่งกำลังใจ หรือน้ำมัน 1 แกลลอนมาเติมไฟ ก็แล้วแต่ใครจะเลือกนะครับ
เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว(ต.ค. 2558) ผมเลือกที่จะหยุด หยุดทุกอย่างเกี่ยวกับงานสต๊อค หยุดถ่ายรูป หยุดแต่งรูป หยุดส่ง หันกลับมาตั้งสติพิจารณาว่า”เพราะอะไร และผมต้องทำอย่างไร” จากคนที่นั่งรอดูแผนที่บน Shutterstock ทั้งวัน นานๆวันถึงจะโผล่มาให้เฮสักครั้ง ครั้งละ 0.25 USD
ผมตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานครั้งใหญ่ครับ จำนวนภาพไม่ใช่ทางออกแล้วละ ผมไม่เข้าวัดไปถ่ายรูป(เพราะผมถ่ายแต่พระพุทธรูปและส่วนประกอบในวัด) ไม่ลงทุ่งนาแล้ว(รูปควายและชาวนามากไปแล้ว) ไม่สนใจหมาแถวบ้าน(มันคือหมาบ้านๆที่ไม่น่าสนใจ)
ผมยอมรับว่าผมมาถึงจุดที่”ส่งผ่านง่ายมาก แต่ขายไม่ค่อยได้” จนผมปรับตัวและส่งรูปอีกครั้ง เป็นรูปที่คละงานหลากหลายแนว ถ่ายด้วยความปราณีตบรรจง ใส่ใจทุกรายละเอียด ฝุ่นผง แสงเงา สีสรรค์ ความคมชัด
ผลที่ได้รูปผ่านมากขึ้น และจากแผนที่นิ่งๆ กลายเป็นว่ามีการขยับๆๆๆ ต่อวันไล่มาเรื่อยๆ (อย่างน้อยก็ไม่ต้องรออาทิตย์ละ 0.25 อีกต่อไป)
ผมรู้สึกว่าตัวเอง”มาถูกทาง” และผมขอเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเป็นลำดับขั้น เผื่อใครสนใจจะทำตามบ้าง

1. ผมอัพเกรดอุปกรณ์กล้องครับ ผมซื้อเลนส์ที่ดีขึ้นมาหน่อย ซึ่งผมเพิ่งรู้ว่าคำว่า F บนเลนส์ มันช่วยอะไรช่างภาพได้บ้าง จากที่เคยบ้าเลนส์ซูมไกลๆประเภท 18-300 ผมหันกลับมามอง 18-35 F1.8 และ 70-200 F2.8

2. ผมอัพเกรดชุดไฟครับ จากโคมไฟ 1 อัน แฟลชไม่เคยรู้จัก ผมกลายมาเป็นคนที่มีแฟลชชุดกลางๆ Fokon ND-400 วางอยู่ในห้องทำงาน รวมไปถึงแฟลชแยก 2 ตัวและทริกเกอร์
3. ผมซื้อของประกอบฉากเข้าบ้านเต็มไปหมด เพื่อที่จะเปลี่ยนบ้านให้เป็น ห้องแล๊บ สำนักงาน และอีกหลายๆอย่างที่พอจะทำในห้องขนาด 4 x 8 เมตรที่ผมมีอยู่ (ผมทำงานที่บ้าน ขายซอฟต์แวร์)
เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนก็คงคิดว่า “ก็แค่คนที่ยอมลงทุน ใครมีเงินพอก็ทำได้อยู่แล้วละ ไฟดีๆ กับซื้อของมากองเพื่อถ่าย ”
ผมขอตอบเลยว่า 3 ข้อข้างบนนั้นไม่จำเป็นครับ เป็นแค่ทางเลือกที่ใครพอจะทำได้ก็ลองทำดู ถึงจะเข้าใจคำว่า”คุณภาพของอุปกรณ์” แล้วอะไรคือสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนอกจาก 3 อย่างนั้น

1. ผมใช้ขาตั้งกล้องมากขึ้นครับ การถ่ายในบ้านหรือนอกบ้าน จากเดิมที่ ยกกดถ่าย เริ่มกลายมาเป็นการเปิด Live view ต่อขาตั้ง ใส่สายลั่นชั่นเตอร์

2. ผมใส่ใจกับ”แสงและเงา” เพราะผมเข้าใจแล้วว่า รูปที่มาปรากฏบนเซ็นเซอร์คือแสงที่ตกกระทบวัตถุและสะท้อนผ่านเลนส์เข้ามา โดยเล่นเปิดรูรับแสงกว้างตามค่า F เปิดนานเท่าค่า S และเซ็นเซอร์มีค่า ISO ที่ช่วยกำหนดความไวแสง โดยเราจะดูแต่แสงพอไม่ได้แล้วละ เราต้องดูในเงาด้วยว่า เงามากไปไหน ควรหาอะไรมา”ลบเงาไหม”

3. ผมเริ่มหันหา Mode อื่นๆของกล้อง จากเดิมที่ผมปรับ Auto มาตลอดจนกล้องหมดประกัน ผมเริ่มรู้แล้วว่า Manual/Aperture/Speed คืออะไร รวมไปถึง Program ที่อยู่ข้างๆ Auto

4. ผมเริ่มรู้แล้วว่าทุกๆแหล่งกำเนิดแสงมันจะมีสีปนมาในแสงที่ทำให้สีขาวแท้ๆกลายเป็นสีขาวไม่แท้ อันเป็นเหตุให้กล้องมีปุ่มที่เขียนว่า White balance และเราต้องรู้ว่าต้องตั้งตรงไหน Auto ได้ไหม และ จะแต่งต่อยังไง รวมไปถึงได้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆจาก eBay ที่เป็นแผ่นพลาสติคสีเทาๆมาช่วยเรื่องนี้

5. ผมเลิกคบ JPG หันมาสนิทกับ Raw ที่สีซีดๆและไฟล์ใหญ่กว่าหลายเท่า

6. ผมรู้แล้วว่า Photoshop ต่างจาก Lightroom อย่างไร  รวมไปถึงคำว่า”Camera Raw”

7. ผมรู้แล้วว่า”หลังขาว”คืออะไร และขาวแท้ๆ ขาวตุ่นๆ และขาวขุ่นๆต่างกันยังไง

8. ผมรู้แล้วว่า เส้นกลางๆที่มันเลื่อนไปมาด้านล่างเวลาเราปรับค่ากล้องมันคืออะไร
เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนก็คงคิดว่า “ก็แค่คนที่ยอมลงทุน คนใช้กล้องพอที่จะเป็นบ้างแล้ว แต่งรูปได้” แล้วไงต่อ ?
อุปกรณ์ดี ถ่ายได้สีสวย สีตรง แล้วมันขายได้ไหม ? ไม่ครับ ถ้าเปลี่ยนแค่ 2 จุดหลักนี้ แต่ถ้าผมยังวิ่งถ่ายแบบเดิมๆ ผมก็คงได้ยอดขายแบบเดิมๆแน่ ผมเลือกที่จะ
1. “ถ่ายในสิ่งที่มีคนซื้อและเป็นสากล” (แต่ไม่ใช่ว่าความเป็นไทยขายไม่ได้นะครับ)
จากเดิมผมคือคนที่ถือกล้องขับรถหาถ่ายอะไรที่”คิดว่าขายได้” กลายเป็นว่าผมต้องหันกลับมาดู”ตัวอย่างงานที่ขายได้” และเริ่ม C&D คือ ลอกและพัฒนา  และหาทางใส่ความเป็นตัวตนของเราให้ได้
2. อย่าส่งรูปแบบขบวนรถไฟ (จากเดิมที่ส่งงานแบบขบวนรถไฟ คือรูปของอย่างเดียวถ่ายหลายมุมหลายด้านและส่งรวดเดียว เปลี่ยนใหม่ คัดๆมาคละส่งกับงานอื่นๆ) จุดพลาดหลักของมือใหม่คือตรงนี้
3. สร้างมาตรฐานให้พอร์ตตัวเองซะ ไม่ใช่ว่าเขาขายอะไรได้ ก็วิ่งถ่ายตามเขาไปทุกแนว ไปทุกภาพ เหมือนนั่งตกปลาที่รอบบึง เห็นคนนู๊นตกได้ก็คว้าเบ็ดวิ่งไปนั่งข้างๆเขา สักพักคนนี้ตกได้ก็ย้ายมานั่งข้างคนนี้ ทางที่ดีเราต้องค้นหาแนวที่เราถนัด และต้องเลือกเอาว่าเราจะอยู่ในแนวนี้ นี่คือภาพในแนวทางของเรา
4. วินัยในการส่งครับ ไม่ใช่ว่าส่งทุกวัน ทุกอาทิตย์ก็ยังได้เลย
ผมเคยคิดเล่นๆ(ไม่รู้ถูกหรือไม่)ว่าโอกาสที่ภาพจะขายได้คือ
1. ส่งตรวจผ่าน ขึ้นหน้า new ในช่วงเวลาที่คนเห็นเยอะๆก็….. ขายได้
2. หลุดหน้า new ไปแล้ว ลูกค้าค้นหาจาก keyword ไม่เจอรูปเราแต่ไปเลือก similar (คล้ายๆ) และเราดูน่าสนใจกว่าก็…. ขายได้
3. ลูกค้าค้นจาก keyword และเจอรูปเรามาในรายการลำดับที่ไม่ต้องเลื่อนไกลนักถูกใจก็…. ขายได้
4. รูปขายได้ๆๆๆๆจนเกิดสภาพ Popular เมื่อค้นหา รูปเราก็โผล่ในหน้าแรกๆลูกค้าถูกใจก็… ขายได้
5. ลูกค้า Follow เรา ซึ่งก็เหมือนกับเขาสมัครสมาชิกร้านเราไปแล้ว เราทำอะไรมาวางขายเขาก็พร้อมจะเข้ามาเลือกซื้อทันที << นี่คือความหมายของพอร์ตคุณภาพ
ถูกใจ=สภาพความประทับใจในภาพ ซึ่งอาจนะสวยแบบแตกต่าง หรือสวยแบบธรรมดา แต่สรุปว่าต้องมีสิ่งโดนใจ
ค้นเจอ=คุณภาพของ Keyword ที่ใส่ไว้ในภาพนั่นเอง
และคนที่ประสบความสำเร็จก็คือคนที่มีภาพ Popular เยอะนั่นเอง (อันนี้ผมคิดเอง)
ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองน่าจะมาถูกทาง ถึงจะยังไม่มีราคาแบบเฉียด 100 US$ เข้ามาในชีวิต แต่ผมก็มีความสุขและไม่เครียดไปกับสิ่งที่ทำลงไป
เห็นหลายท่านนั่งรอที่จะมี 0.25 US$ แว๊บเข้ามา ผมก็อยากจะแนะนำวิธีที่ทำให้ไม่ต้องรอ แต่ทำให้มาแน่ๆเลยจะดีกว่า
ที่เล่ามาทั้งหมดคือ”ไม่อยากให้ใครเครียดกับการถ่ายรูปขาย เพราะการทำแบบเดิมย่อมได้ผลแบบเดิม แต่ถ้าเรายอมปรับตัว มันก็มีโอกาสที่จะได้รับผลลัพธ์แบบใหม่”
ผมยังไม่ถึงขึ้นเทพ แต่ผมก็กลายมาเป็นคนที่ไม่กินไข่มา 20 กว่าวัน เห็น 1.00 – 5.00 US$ ในบางวันแล้ว หลังจากที่เคยรอ 0.25 US$ แบบนานๆมาที
ป.ล. จริงๆแล้วผมเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียนโปรแกรมขายทั่วโลก ขายซอฟต์แวร์ได้เงิน 1,000 USD ผมเฉยๆ แต่ขายรูปได้ 0.25 USD ผมนั่งยิ้ม … อะไรคือความสุขและความคาดหวังของคนถ่ายภาพขายกันแน่นะ..

https://web.facebook.com/groups/1454798028109768/permalink/1662998767289692/?_rdc=1&_rdr