จุดสังเกตพระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม
1.ปลายพระเกศมีทั้งทะลุซุ้มและไม่ทะลุซุ้ม
2.พระเกศมีทั้งแบบเป็นปลีคล้ายยอดเจดีย์มีเนื้อที่โคนพระเกศและแบบเป็นเส้นแหลมพลิ้ว
3.พระกรรณด้านขวาองค์พระโค้งงอนแบบหูบายศรี
4.พระกรรณด้านซ้ายองค์พระเป็นเส้นตรง
5.แขนขวากางออกเล็กน้อย
6.แขนซ้ายทิ้งดิ่งลงตรงๆ
7.หัวฐานชั้นกลางยื่นโย้เชิดขึ้นเหมือนหัวเรือสำเภา
8.หน้าตักมีรอยเว้าเข้า ดูแล้วเหมือนเลขแปดในแนนอน
9.มีเส้นผ้าทิพย์และเส้นแซม ส่วนเส้นแซมจะมีทั้งแซมเต็มและไม่เต็ม
10.จุดนี้สำคัญเป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ฐานแซมคือเส้นขอบพิมพ์ด้านบนซ้ายจะเบนออกเล็กน้อยทำให้พื้นที่ด้านบนซ้ายขององค์พระมีความกว้างกว่าด้านล่าง แต่ก็ไม่เป็นแบบนี้ทุกองค์ คือมีทั้งแบบตรงและแบบเบนออกด้านบน
11.เส้นวาสนาหรือกรอบกระจกด้านซ้ายองค์พระจะลากยาวจากด้านบนจนถึงขอบด้านล่าง
***จุดตำหนิต่างๆในพระสมเด็จวัดระฆังนั้นในพระสมเด็จบางองค์จะมีไม่ครบทุกจุดครับแต่ หลักๆแล้วในการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังนั้นที่สำคัญต้องพิจารณาในเนื้อหามวลสารหลัก เป็นสำคัญส่วนพิมพ์ทรงนั้นเป็นเรื่องรองลงไปครับ..เพราะว่าในปัจจุบันพระสมเด็จปลอมนั้นสามารถทำตำหนิในพิมพ์ทรงได้หมดแล้วแถมยังมีความคมชัดยิ่งกว่าพระสมเด็จแท้เสียอีก
..ดังนั้นหลักสำคัญในการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังนั้นที่สำคัญต้องไม่ทิ้งมวลสาร หลักคือ เม็ดแดง หินเทา กรวดดำ เม็ดขาวขุ่นและมวลสารอื่นๆรวมทั้งธรรมชาติความเก่า รอยหนอนด้น รอยปูไต่ หลุมโลกพระจันทร์ บ่อน้ำตา ความห่างของมวลสารเก่าและใหม่เป็นสำคัญซึ่งธรรมชาติเหล่านี้ยังไม่สามารถปลอมแปลงได้.
ขนาดของพระสมเด็จวัดระฆังไม่ว่าจะเป็นแม่พิมพ์ใดก็มีอยู่ด้วยกัน คือ ขนาดใหญ่ กลาง ย่อม เหมือนกันทุกพิมพ์ ซึ่ง “ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม ” ก็เช่นเดียวกัน คือมี 3 ขนาด ใหญ่ กลาง และย่อม เท่าที่พบแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 6-7 แม่พิมพ์ แต่โอกาสในการได้เห็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมนั้นมีมากกว่าพิมพ์อื่น ๆ และอยากจะกล่าวเสริมว่า ระหว่างขนาดทั้ง 3 ขนาดของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม โอกาสที่จะได้เห็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมฟอร์มใหญ่ย่อมน้อยกว่าที่จะเห็นฟอร์มขนาดกลาง และแน่นนอนว่าฟอร์มเล็กย่อมเป็นฟอร์มที่มีโอกาสพบเห็นมากที่สุด “พระสมเด็จวัดระฆังแท้ที่จริงแล้วองค์ย่อม” ทั้งนี้เพราะว่าขนาดย่อมของพระสมเด็จระฆังทุกพิมพ์มีโอกาสพบเห็นได้ง่ายกว่าขนาดใหญ่นั่นเอง
หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวถึงฟอร์มหรือสัญฐานของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม ที่มักจะเรียกว่า “สอบล่างบานบน” อันหมายความว่าการตัดพิมพ์มีลักษณะเด่นเฉพาะ คือ กรอบพิมพ์ด้านบนจะกว้างกว่ากรอบพิมพ์ด้านล่างจนเกือบเห็นได้ชัด จนเป็นที่มาของคำว่า “สอบล่างบานบน ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่มักจะแตกต่างจากเอกลักษณ์พิมพ์อื่น ๆ แต่ทั้งนี้ใช่ว่าทุกองค์จะต้องมีการตัดพิมพ์แบบสอบล่างบานบนทั้งหมด ที่ตัดกว้างยาวใกล้เคียงกันทั้งล่างและบนก็มีอยู่มาก หรือตัดข้างเกือบขนาดกันก็มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะนำมาตัดสินความแท้เทียม แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างของงานช่างที่ควรจะรับรู้
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม ขอให้สังเกตซุ้มหวายผ่าซีก หรือที่เราเรียกกันว่า ซุ้มครอบแก้ว จะมีลักษณะแตกต่างจากพิมพ์อื่น ๆ นั่นคือ ซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์อื่น ๆนั้นจะมีความสัมพันธ์บาลานซ์กันกับกรอบพิมพ์ แต่ในพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมนี้ โค้งซุ้มด้านบนของหวายผ่าซีกหรือครอบแก้วจะลดต่ำกว่าพิมพ์อื่น จึงทำให้พื้นที่นอกเส้นซุ้มส่วนบนมีพื้นที่กว้างมากกว่าพิมพ์อื่น ๆ และด้วยเหตุดังกล่าวว่าลักษณะซุ้มต้องเป็นทรงชะลูดเพื่อสัมพันธ์กับองค์พระ จึงทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะคล้าย ๆ กันกับเอกลักษณ์เรื่องการตัดกรอบพิมพ์แบบสอบล่างบานบน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าในพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธานมักจะมีการตัดขอบพิมพ์แบบได้ฉาก คือตัดตรงลงมาทั้ง 4 ด้าน คล้ายกับตัดแบบประณีตบรรจง ส่วนการตัดขอบในพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมนั้น ตัดตรงก็มีน้อยกว่าตัดแบบสไลด์ ซึ่งบางท่านอาจกล่าวว่าที่ตัดแบบสไลด์มักเป็นการตัดแบบบางขุนพรหม ซึ่งหากจะยึดถือการตัดเป็นการแบ่งแยกวัดก็เห็นทีจะไม่ใช่
ความเชื่อเรื่องพุทธคุณเกี่ยวกับพิมพ์ทรง
ในอดีตนั้นปรมาจารย์เรื่องพระสมเด็จท่านเชื่อกันว่าพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมจะมีพุทธคุณโดดเด่นอย่างยิ่งทางเมตตามหานิยมและโชคลาภเป็นสำคัญ ซึ่งในแต่ละพิมพ์อย่างเช่นพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์พระประธาน ก็มักจะมีพุทธคุณครอบจักรวาลเปรียบเหมือนยาหม้อใหญ่ รักษาได้หายสาระพัดโรค อันหมายความว่ามีพุทธคุณครอบจักรวาลทั้งความเป็นสิริมงคล เสน่ห์ เมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพันครบเครื่อง แต่พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม ในอดีตประสบการณ์ความเชื่อของปรมาจารย์พระสมเด็จเมื่อกล่าวถึงฐานแซม ย่อมหมายถึงเสน่ห์เมตตานิยมเป็นสำคัญ
ขอบคุณ http://www.meeboard.com/view.asp?user=saravutrasameepen&groupid=23&rid=115&qid=2
http://superman-amulet.blogspot.com/2011/09/blog-post_789.html