เราอาจจะได้ยินเสียงตามข้อต่าง ๆ ดังกรอบแกรบ เช่น เสียงจากเข่าขณะลุกเดินหรือยืดขา เสียงจากข้อเท้าเวลาขยับข้อเท้า หรือเสียงจากข้อไหล่เมื่อเอื้อมหยิบของ หากเคยได้ยิน คุณคิดไหมว่าเสียงเหล่านั้นอาจจะกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเราก็เป็นได้
เสียงกรอบแกรบของข้ออาจเกิดจาก “ข้อเสื่อม” จนทำให้พื้นที่ผิวข้อขรุขระ เมื่อมีการเสียดสีกันจึงทำให้เกิดเสียง ซึ่ง “ข้อเสื่อม” เป็นผลมาจากกระดูกอ่อนที่เชื่อมต่อข้อต่าง ๆ ผุพังหรือบางลง ทำให้กระดูกข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ จึงรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการข้อเสื่อมมักมีสาเหตุมาจากวัยที่สูงขึ้นและการใช้งานข้อต่อต่าง ๆ อย่างหนักหรือหักโหมจนเกินไป
จากสถิติคนไทยเป็นโรคข้อเสื่อมมากถึง 7 ล้านคน หรือร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด และมักจะพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอาการปวดข้อนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงปฏิบัติตามข้อแนะนำ 4 ข้อ ดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนัก หนึ่งในสาเหตุใหญ่ของอาการข้อเสื่อมคือความอ้วน ยิ่งคุณมีน้ำหนักตัวมากเท่าไร ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายยิ่งต้องรับภาระอันหนักอึ้งมากขึ้นเท่านั้น การควบคุมน้ำหนักจึงเป็นการช่วยทะนุถนอมข้อกระดูกทางหนึ่งด้วย
2. อย่าอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ให้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง โดยเฉพาะท่าทางที่ผิดและส่งผลเสียต่อข้ออย่างการนั่งยอง ๆ หรือบางคนชอบยืนทิ้งน้ำหนักตัวไปด้านเดียว รวมไปถึงการนั่งหลังงอและก้มหน้าทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนาน ๆ ก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอและกระดูกสันหลังส่วนเอว
3. ไม่หักโหมออกกำลังกายจนเกินไป และเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หากอยากออกกำลังกายจริง ๆ ควรทำควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อจะช่วยแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อ เมื่อร่างกายต้องเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะการมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดี จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระการเคลื่อนไหวและแรงต่าง ๆ น้อยลง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสื่อมได้มาก
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เช่น สเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อ เพราะหากใช้บ่อย ๆ อาจมีผลต่อข้อกระดูก ทำให้ข้อเสียและกระดูกบางลงได้
โรคข้อเสื่อม หากไม่ป้องกันนอกจากจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดทรมานและทำให้การใช้ชีวิตประจำวันผิดเพี้ยนไปแล้ว ยังเป็นโรคที่ยากจะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติ ดังนั้น ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เริ่มดูแลรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
ที่มา: บทความของ พญ.สุมาภา ชัยอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อจาก www.haijai.comwww.bumrungrad.com