โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

เลี้ยงลูกแพะอย่างไรให้รอด?

การตายของลูกแพะแรกคลอด เป็นปัญหาน่าหนักใจที่จะทำให้ผู้เลี้ยงแพะเกิดความเสียหาย

การแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีความเข้าใจของความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างสอดประสานกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่การตั้งท้อง ไปจนกระทั่งหย่านม..

พฤติกรรมแม่

เป็นกริยาอาการที่แม่แสดงออกในการเตรียมรับลูกที่จะเกิด, ดูแลคุ้มครองลูกเกิดใหม่จนถึงหย่านม

การปรับตัวทางสรีระของแม่และลูก

ในการคลอด ลูกเกิดใหม่ต้องสูญเสียความร้อนจากการเปลี่ยนสภาพจากที่อยู่ในมดลูกแม่มาสู่โลกภายนอก ภายใน 15 นาทีแรก อุณหภูมิร่างกายลูกจะลดลง 1-2 C ลูกเกิดใหม่จึงต้องเพิ่มการสร้างความร้อนถึง 15 เท่า ยิ่งอุณหภูมิเย็นลงจะยิ่งมีผลกระทบมาก ด้วยสาเหตุประกอบ เช่น ลมพัด, ความชื้น, การระเหยของน้ำคร่ำบนผิวหนังลูก ลูกแพะจะเผาผลาญไขมันและเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มการสร้างความร้อน แม่แพะที่ขาดอาหารจะให้ลูกที่มีไขมันสะสมน้อยทำให้โอกาสรอดน้อยลง ปริมาณพลังงานสำรองจึงเป็นวิกฤตแรกสำหรับการมีชีวิตรอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ลูกแพะเล็กเสี่ยงต่อการเกิดอุณหภูมิลดต่ำได้ง่ายกว่าลูกแพะใหญ่เนื่องจากมีอัตราพื้นผิวต่อปริมาตรสูงกว่า และมีอัตราการสูญเสียความร้อนต่อหน่วยน้ำหนักที่สูงกว่า

นมน้ำเหลือง

นมน้ำเหลืองเป็นน้ำนมแรกของแม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นไม่นานก่อนคลอด มีสารอาหารที่เข้มข้นพร้อมด้วยโปรตีนภูมิคุ้มกันโรค, เอนไซม์, ฮอร์โมน, สารเพื่อการเจริญเติบโต เป็นแหล่งอาหารเพียงหนึ่งเดียวของลูกเกิดใหม่นอกเหนือจากพลังงานสำรองในตัว นมน้ำเหลืองมีสารอาหารโดยประมาณดังนี้ ไขมัน 7%, casein 4%, lactose 5%, น้ำ 82% และให้พลังงาน 2Kcal ต่อน้ำนม 1 ซีซี. ประมาณความต้องการของลูกแพะใน 18 ชม.แรก อยู่ที่ 180-290 ซีซี. ต่อน้ำหนักตัวลูก 1 กก. เนื่องจาก โปรตีนภูมิคุ้มกันโรคไม่สามารถผ่านทางรกแม่ลูกได้ ลูกจึงต้องรับจากการกินนมน้ำเหลืองเท่านั้น เมื่อได้กินนมน้ำเหลืองระดับภูมิคุ้มกันโรคในตัวลูกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน ชม.แรก และสูงสุดที่ 24 ชม.หลังคลอด แต่การดูดซึมโปรตีนภูมิคุ้มกันโรคจะหยุดลงภายใน 24 ชม. แรกหลังคลอด เรียกว่าลำไส้จะปิดการดูดซึม ดังนั้นการชักช้าในการดูดนมของลูกเนื่องจากไม่มีน้ำนม หรือลูกที่ไม่เก่งการค้นพบหัวนมแม่ จึงมีผลเสียมาก

น้ำหนักตัว, จำนวนลูกครอก และ การดูดนม

ลูกแพะที่น้ำหนักตัวมากไปหรือน้อยไปจะเสี่ยงต่อการตายได้ โดยน้ำหนักตัวที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 3 – 5.5 กก. ในครอกแฝดจะมีอัตราตายที่สูงกว่าลูกเดี่ยว การคลอดยากเป็นสาเหตุหลักของการตายสำหรับลูกที่มีขนาดใหญ่ แต่สำหรับลูกที่มีขนาดเล็กการตายมักมีสาเหตุจากการขาดอาหารและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (ระดับพลังงานสำรองต่ำ, ความอ่อนแอ, ไม่สมบูรณ์) ลูกที่อ่อนแอจะไม่เก่งในการค้นพบหัวนมแม่ ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นในการคงการดูดนมไว้ได้ ส่วนลูกที่หัดยืน-ดูดน้ำนมได้ช้าจะมีโอกาสรอดน้อยกว่า จึงควรต้องกินนมน้ำเหลืองภายใน 6 ชม.แรกหลังคลอด ดังนั้นสำหรับลูกที่น้ำหนักน้อยจึงมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ คือน้ำหนักน้อย-พลังงานสำรองน้อย-ลูกแพะอ่อนแอ..สำหรับผู้เลี้ยงแพะมืออาชีพแล้ว มักจะต้องการลูกแพะแฝด2ตัว(ลูกแพะ1ตัวจะขยายพันธุ์ได้ช้า ..ลูกแพะแฝด3-4ตัว แม่แพะมักให้นมไม่ดีพอ ทำให้ลูกแพะเเคระเกร็น)

ปรากฏการณ์ลูกเกิดใหม่

  1. การแยกตัวและเลือกพื้นที่คลอด
    แพะจะแยกตัวออกจากฝูงเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด ในการเลี้ยงแบบกักขัง, แพะใกล้คลอดจะเลือกแยกตัวออกมาถ้ามีโอกาสเลือกซองคลอดในโรงเรือน ในการเลี้ยงแบบปล่อย, ยังไม่ชัดเจนนักว่าแพะจะเลือกที่คลอดหรือตามฝูงไม่ได้กันแน่ ในฝูงที่มีตัวเมียตั้งท้องจะพบว่ามีการรบกวนความสัมพันธ์แม่ลูกอีกด้วย
  2. การเลียขน
    แม่แพะจะเลียขนให้ลูกภายใน ชม.แรก ๆ เนื่องจากการสนใจต่อน้ำคร่ำ และจะทำให้นำไปสู่การจำกลิ่นตัวลูกได้ ในครอกแฝดแม่แพะจะหันมาสนใจลูกแฝดตัวหลัง แต่ลูกตัวที่สองจะไม่ได้รับการเลียตัวนานเท่ากับลูกตัวแรก ลูกแฝดจะทำให้แม่แพะต้องเลียนานขึ้นจึงทำให้เสี่ยงที่ลูกจะมีอุณหภูมิร่างกายลดต่ำได้ ในขณะเลียแม่จะส่งเสียงต่ำพิเศษออกมาเมื่อเลียลูกทำให้เกิดการจดจำกันได้ของแม่ลูก
  3. การจดจำกันได้ของแม่ลูก
    แม่แพะจะอยู่ในพื้นที่คลอดลูกหลาย ชม.หลังคลอด ทำให้เกิดความสัมพันธ์แม่ลูก กลไกการจดจำผ่านระบบประสาทรับกลิ่น ระยะเวลา 30-60 นาที ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดหลังคลอดจะเพียงพอให้จดจำกันได้ และจะปฏิเสธตัวอื่นที่ไม่ใช่ลูกของตน ชม.แรกหลังคลอดจึงเป็นระยะวิกฤตในการจดจำกันได้ของแม่ลูก การรบกวนในระยะนี้จะนำไปสู่การไม่ยอมรับกัน แม่จะไม่ยอมเลี้ยงลูก และทำให้ลูกตายในที่สุด การจดจำกันได้แน่นแฟ้นเพียงพอหรือไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่อยู่ในซองคลอด การที่แม่ลูกซึ่งยังมีการจดจำกันได้ยังไม่แรงพอ หากออกจากพื้นที่คลอดเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกตายได้ โดยปกติแล้ว, แม่ลูกควรต้องอยู่ด้วยกันในพื้นที่คลอดอย่างน้อย 6 ชม.
  4. การดูดนม
    การคลอดทำให้เกิดการกระตุ้นทางสรีระและพฤติกรรมต่อลูก ทำให้ลูกพบตัวแม่และรับรู้ซึ่งนำลูกไปหาหัวนม ส่วนมากแล้ว, การดูดนมต้องเกิดขึ้นภายใน 2 ชม.
  5. การติดตามแม่
    แม่อาจจะออกจากพื้นที่คลอดไป แต่ลูกต้องการดูดนมทุก ชม. ลูกจึงต้องติดตามแม่ไปในฝูง ส่วนใหญ่แล้วลูกแพะจะจำแม่แพะได้ใน 12-24 ชม.หลังคลอด และจะดีขึ้นเรื่อย

ช่วงเวลาพฤติกรรมของแม่ลูก (Martinez et.al., 2008)

แม่

ลูก

แนวทางการป้องกันแก้ไข

  1. การจัดการช่วงคลอด
    • จัดทำคอกคลอดโดยให้แม่แพะท้องแก่ที่เข้าสู่ช่วงคลอดเข้าอยู่ หรือเมื่อเริ่มแสดงอาการคลอด โดยเป็นคอกขนาดเล็ก
    • ป้องกันการรบกวนจากแม่แพะตัวอื่น โดยลูกแพะและแม่แพะจะต้องอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการรบกวนในคอกคลอด และไม่ปล่อยออกนอกคอกคลอด อย่างน้อย 6-24 ชม.
    • อย่าทำให้แม่แพะเกิดความตื่นกลัว, เครียด และการรบกวนอื่น ๆ จะทำให้มีการยับยั้งกระบวนการบีบตัวของมดลูก
    • ไม่ปล่อยแม่แพะกลับสู่ฝูงเร็วเกินไป อย่างน้อยควรเป็นเวลา 1 สัปดาห์
    • ต้องป้องกันตัวลูกให้พ้นจากความหนาวเย็น หรือ ร้อนจัด โดยควรอยู่ในคอกขังตลอดเวลา ไม่ปล่อยเดินตามฝูงตากแดด หรือออกจากโรงเรือนในเวลากลางคืน
  2. โภชนาการช่วงตั้งท้อง
    • เสริมอาหารให้แม่แพะในช่วงคลอดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำนมไม่พอเพียง, น้ำหนักตัวลูกต่ำ แม่แพะที่อาหารไม่เพียงพอจะใช้เวลานานในการมีการเข้าหาลูก, ดุร้าย, ใช้เวลาเลียน้อย และ ใช้เวลากินหลังคลอดนานขึ้น
  3. นมน้ำเหลือง
    • ดูแลให้ลูกแพะต้องได้กินนมน้ำเหลืองอย่างพอเพียง เริ่มตั้งแต่ใน ชม.แรก
    • ***สรุป : เมื่อแรกเกิด 1วัน ควรฉีด ยาแก้อักเสบเช่นอ๊อกซี่ฯ +ยาบำรุงเช่นคาโตซาล ,OSTONE ..แคลเซี่ยม+บี.12 ,และธาตุเหล็กให้แก่แม่แพะด้วยส่วนลูกแพะ ฉีดธาตุเหล็กเข้ากล้ามเนื้อตัวละ1 cc. เพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง และต้องเช็ดสายสะดือลูกแพะด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ, ให้กินนมน้ำเหลืองจากแม่แพะ , ทำตัวลูกแพะให้อบอุ่นอย่าให้ลมโกรก

ขอบคุณ ผู้เขียน : นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา สนง.ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี 2017
https://pvlo-pni.dld.go.th/index.php/survive-goatkid
https://108kaset.com

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php