โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

แจ๊ค หม่าแห่งAlibaba.comจากเด็กล้มเหลวสู่เศรษฐีหมื่นล้าน

 

จำหน้าไว้นะครับ “หม่าหยุน” หรือ “Jack Ma” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ นาม ‘Alibaba.com’  …คนนี้แหละจะมาเขย่าวงการค้าออนไลน์ ให้ทั้งโลกกระเทิอน

 

ในวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ศาลามหาประชาคมเมืองหังโจว คราคร่ำไปด้วยผู้คนกว่า 3,200 คนที่สวมเสื้อยืดสกรีนสัญลักษณ์ของอลิบาบา (alibaba.com)เว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนที่มีถิ่นกำเนิดในหังโจว และยาฮูไชน่า โดยเป็นพนักงานของอลิบาบา ราว 2,500 คน และพนักงานจากยาฮู ซึ่งมีฐานในปักกิ่งอีก 700 คน การรวมตัวกันครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของคนจากสองเว็บชื่อดังมาเจอกันอย่างเป็นทางการหลังจากที่ยาฮูซื้อหุ้น 40% อันเป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐของอลิบาบา บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความแช่มชื่น และทุกครั้งที่หม่าหยุน 马云 หรือแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อลิบาบากล่าวถึงเป้าหมาย สายตาจากผู้คนข้างล่างก็จะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและชื่นชม….

จากเด็กเกเรสู่เศรษฐี 4,000 ล้าน

ดูจากอดีตแล้ว อาจไม่เชื่อว่าคนอย่างหม่าหยุนจะผงาดขึ้นเป็นเศรษฐีพันล้านได้ เพราะในช่วงต้นของยุค 80 เขายังเป็นวัยรุ่นที่มีผลการเรียนย่ำแย่และเกเรมาก แต่โชคดีที่เขากลับตัว หันมาเอาจริงเอาจังกับการเรียนภาษาอังกฤษ และมุ่งมั่นกับการสอบเอนทรานซ์ ที่สุดท้ายก็สามารถเข้าเรียนในวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งในเมืองหังโจวได้ และเป็นบัณฑิตเพียงคนเดียวในรุ่นที่กลายเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ในปี 1995 หม่าหยุนคนที่เชื่อกันว่าเป็นคนที่ ‘มีภาษาอังกฤษดีที่สุดในหังโจว’ ก็ได้งานชิ้นหนึ่งที่ต้องเดินทางไปยังสหรัฐ โดยตำแหน่งแล้วเขาคือตัวแทนเจรจา แต่หน้าที่หลักคือการไปขอเงินจากบริษัทในสหรัฐ หม่าหยุนรำลึกอดีตเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกที่รับงานนั้นรู้สึกว่าเป็นงานไม่ยากและได้รับการดูแลอย่างดีเมื่อถึงจุดหมาย แต่ทว่าเมื่ออยู่ไปได้ระยะหนึ่งจึงตระหนักว่าตัวเองกำลังถูกควบคุมตัวและพบว่าบริษัทดังกล่าวมีเบื้องหน้าเบื้องหลังกับแก๊งมาเฟีย หลังจากนั้น เขายังโดนโกหกว่าจะพากลับหังโจว แต่ในที่สุดกลับถูกทิ้งให้อยู่ที่สนามบินโดยไม่มีสัมภาระใดๆ ติดตัวเลย

ยังดีที่หม่าหยุนยังพอมีโชคอยู่บ้าง เพราะในกระเป๋ากางเกงของเขามีเงินจากการโยกสลอตแมชชีนที่ลาสเวกัสอยู่ 600 ดอลลาร์ จึงรีบใช้เงินนี้ซื้อตั๋วเครื่องบินไปหาเพื่อนที่ซีแอตเติล และที่นี่เอง ที่หม่าหยุนได้พบกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่แผ่นดินใหญ่น้อยคนนักจะรู้จักในตอนนั้น

“ผมให้เพื่อนช่วยหาคำว่า ‘ประเทศจีน 中国’ ก็ไม่มีผลอะไรออกมา ไหนจะคำว่า ‘เบียร์ 啤酒’ ก็มียี่ห้อต่างๆ ของทั้งสหรัฐฯ ของเยอรมนี แต่ว่าไม่มียี่ห้อของจีน ผมจึงรับรู้ได้ว่าจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือช่วยทำให้แบรนด์ของจีนให้เป็นที่รับรู้ให้ได้”

เมื่อกลับมาถึงหังโจว หม่าหยุนรีบเชิญเพื่อนๆ มาประชุมที่บ้าน รวมสมาชิกวันนั้นได้ 24 คน เขาประกาศในที่ประชุม 2 เรื่อง คือ 1. จะลาออกจากงาน และ 2. จะทำเว็บไซต์ โดยจะเริ่มต้นที่เว็บเยลโล เพจเจสของจีน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า สมาชิกทั้ง 24 คนนั้นก็เห็นดีเห็นงามไปกับเขา และเดินตามเขามาจนวันนี้เข้าปีที่ 10 แล้ว

แจ๊คหม่ากับมาซาโยชิ ซัน หุ้นส่วนใหญ่ของยาฮู และMark Schwartz อดีตประธานโกลด์แมน แซคช์ (เอเชีย)

————–

ในวันแรกที่ธุรกิจของเขาเริ่มต้น อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ก็คือสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้ารู้ว่าเขาไม่ใช่คนหลอกลวง ในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตอยู่จริง

หลังจากนั้นในปี 1999 ที่หม่าหยุนมีอายุได้เพียง 34 ปี เขาก็ได้ก่อตั้งเว็บไซต์อลิบาบาขึ้น จนบัดนี้เว็บดังกล่าวก็มีอายุได้ 6 ปีแล้ว นิตยสารฟอร์บส์เชื่อว่า หม่าหยุนคนนี้มีแผนส่งออกผลิตภัณฑ์เมดอินไชน่าผ่านเว็บไซต์อลิบาบาไปยังทั่วโลก

ปัจจุบัน อลิบาบาเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ชแห่งโลกไซเบอร์ ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้ประกอบการกว่า 7 ล้านแห่งจาก 200 ประเทศ กับผู้ประกอบการจีนอีก 2 ล้านรายทุกวันร่วมกันดำเนินธุรกิจค้าขายกันบนโลกออนไลน์ จากการประเมินพบว่า มูลค่าทางตลาดของอลิบาบาหลังจากร่วมมือกับยาฮูแล้ว ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับยักษ์ใหญ์เว็บไซต์ของจีนอีก 2 ราย คือ shanda.com กับ netease.com และเมื่อมีการจัดอันดับเศรษฐีแดนมังกรของหูรุ่นรีพอร์ท ก็ได้ประเมินให้หม่าหยุนเป็นผู้ที่มีสินทรัพย์ทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 ล้านหยวน

เจรจาธุรกิจ 82 ล้านเหรียญในห้องน้ำ

       หม่าหยุนเป็นคนที่มีวาทศิลป์ดี เขามีความสามารถทำให้คนที่ฟังเขาพูดเห็นดีเห็นงามไปกับเหตุผลที่เขายกขึ้นมาประกอบ ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งก็คือเมื่อเขาพบกับไช่จงซิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) คนก่อนของอลิบาบา ที่มาเจรจาในฐานะของตัวแทนบริษัทร่วมลงทุน แต่ในที่สุดกลับถูกชวนมาทำงานให้กับอลิบาบาแทน

หรืออีกครั้ง เมื่อปี 1999 ที่หม่าเพิ่งประกาศว่าจะก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีน้อยคนนักที่เชื่อในคำพูดนี้ แต่ทว่าต้องยกเว้นมาซาโยชิ ซัน นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่มีหุ้นใหญ่ในยาฮู เพราะหม่าหยุนใช้เวลาเพียง 6 นาทีก็โน้มน้าวให้ซันยินดีลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับอลิบาบาของเขาได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หม่าหยุนและทีมพบกับความสำเร็จในวันนี้ นั่นก็คือ พวกเขาเป็นกลุ่มกล้าฝันและทำให้ฝันนั้นเป็นจริง นอกจากนั้น ยังเป็นคนรักษาคำพูด ดังที่ในช่วงปี 2001 ธุรกิจเว็บไซต์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา ซันถึงกับออกปากกับหม่าว่า ในบรรดาซีอีโอแต่ละบริษัทที่เขาเจอ วาจาของแต่ละคนแตกต่างจากวันแรกที่เคยเชิญชวนให้ซันไปร่วมลงทุนด้วย เหลือแต่เพียงหม่าเท่านั้นที่ยังพูดคำไหนคำนั้นเหมือนเดิม

แจ๊ค หม่าแห่งอลิบาบา :ผู้ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ความเชื่อถือในตัวหม่าที่เกิดขึ้นในยามยากครั้งนั้นของซัน มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปี 2003 ที่หม่าหยุนมีความคิดจะตั้งเว็บไซต์ประมูลสิ่งของขึ้นมาแข่งกับอีเบย์ ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่มีคนบอกว่าความคิดของเขาเป็นไปไม่ได้ แต่ก็มีมาซาโยชิ ซันคนนี้ที่ยินดีลงเงิน 82 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับหม่า และไม่น่าเชื่อว่าเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ เขาสองคนกลับเจรจากันอย่างง่ายๆ ในห้องน้ำ

แล้วความจริงก็พิสูจน์ได้ว่าเงินลงทุนของเศรษฐีญี่ปุ่นไม่ได้สูญเปล่าเลย เมื่อหม่าหยุนตั้งเว็บไซต์เถาเป่า (taobao.com) ให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของอีเบย์ได้จริง และสำหรับอลิบาบา ตอนนี้ก็ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากยาฮู อะเมซอน และอีเบย์

หม่าหยุนยังบอกว่า ในปีนี้ อลิบาบาจะมีสำนักงานย่อยในยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ซึ่งก็ต้องจ้างพนักงานอีกหลายร้อยอัตรา แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังไม่ใช่โครงการที่ใหญ่ที่สุด เพราะโครงการที่ต้องให้น้ำหนักมากที่สุดในอนาคต คือการแสวงหารูปแบบใหม่ของการค้า เพราะถึงวันนี้แล้ว การจะเป็น ‘บริษัทที่ยิ่งใหญ่’ของหม่าหยุนยังคงมีภาพไม่ชัดนัก

“ ตอนนี้เหมือนพวกเรากำลังสร้างตึกขึ้นมา 1 หลัง วันนี้ติดตั้งก๊อกน้ำ พรุ่งนี้ติดตั้งชักโครก เรื่องทุกเรื่องปนเปกันไปหมด นอกจากนั้นยังแก้ไปแก้มา ตอนนี้เรามีแค่ภาพโครงร่างคร่าวๆ ผมคิดว่าปี 2009 ทุกคนคงจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของอลิบาบา”

ในทัศนะของหม่าหยุน เขามองว่าเมื่อความคิดต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลายเป็นจริง เมื่อนั้นอลิบาบาก็จะไม่เป็นเพียงธุรกิจของคนเพียงจำนวนหลักหมื่น เขายังหวังว่าอีคอมเมิรซ์จะกลายเป็นสิ่งที่สะดวก เหมือนกับน้ำประปา ‘แค่บิดก๊อกก็ได้ใช้’

ทั้งนี้ หม่าหยุนสรุปชีวิตการทำงานของตัวเองเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรก คือปี 1995 ที่เขายังเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยคอมพิวเตอร์เมืองหังโจว ที่คาดว่าจะมีอนาคตเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศ

ช่วงที่ 2 คือปี 1995 ถึงปี 1999 หม่าหยุนเริ่มต้นทำเว็บไซต์เยลโล เพจเจสร่วมกับการสื่อสารเมืองหังโจว จากนั้นก็ได้ไปแสวงหาลู่ทางในปักกิ่ง แต่แล้วในคืนหนึ่งของปี 1999 ที่มีหิมะโปรยปราย เขาและเพื่อนที่ไปด้วยกันก็เดินทางกลับมายังหังโจวด้วยความเศร้า

ช่วงที่ 3 คือ ปี 1999 ถึงปี 2004 หม่าหยุนประสบความสำเร็จในการทำเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ แบบ Business-to-Business (B2B) คือ การทำธุรกรรมระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง เพื่อการค้าขาย การจัดการ การผลิตหรือวัตถุดิบ, การจำหน่ายสินค้า, การจ่ายเงินออนไลน์ และในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อได้ร่วมมือกับยาฮูไชน่าแล้ว แม้จะมองอนาคตไม่ได้ชัดเจนนัก แต่หม่าหยุนบอกว่าจะต้องพยายามให้อลิบาบาเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซในฝันให้ได้.

 

http://www.1009seo.com/index.php/topic,352

 

คำเตือนสติดีๆ..จากภรรยาของแจ๊ค หม่า